อัปเดตสถานการณ์พายุ: ไม่มีสัญญาณพายุเข้าไทย แต่ฝนเพิ่มช่วงกลางต.ค.
สถานการณ์พายุในประเทศไทย สทนช. คาดการณ์ไม่มีพายุเข้าไทยถึง 20 ต.ค. พร้อมแนวโน้มฝนเพิ่ม 12 - 14 ต.ค.
การเตรียมความพร้อมรับมือพายุและน้ำท่วมในประเทศไทย: อัพเดตสถานการณ์น้ำตั้งแต่ 9 ต.ค. 67 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่าสทนช.ได้ร่วมประเมินติดตามคาดการณ์การเกิดพายุที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดพายุได้อีก 1 ลูก อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่จะเกิดพายุใหม่ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 20 ต.ค.67 “ยังไม่พบความเสี่ยงในการก่อตัวของพายุที่จะเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทย”
น้ำทะเลหนุนสูงและผลกระทบ พื้นที่ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานคร
ในช่วงวันที่ 12-14 ต.ค.67 ปริมาณฝนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบกับ จ.สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ และแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ)
มีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 13-24 ต.ค.67 และมวลน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนซึ่งจะไหลลงมาสมทบกับปริมาณน้ำในแม่น้ำ จึงต้องหาแนวทางในการลดปริมาณน้ำที่มาจากพื้นที่ตอนบนที่จะไหลมายังเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา
ปัจจุบันมีอัตราการระบาย 2,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที โดยกรมชลประทานจะพิจารณาระบายน้ำเพิ่มเติมไปทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ ลงสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก พร้อมทั้งจะผันน้ำเข้าสู่ทุ่งรับน้ำให้เกษตรกรใช้สำหรับเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปีในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง
ที่ประชุมมีมติร่วมกันในการรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในระดับปัจจุบัน คือ +16.5 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งลดลงจากก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ในระดับ +17.3 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง พร้อมทั้งจะมีการทยอยปรับลดอัตราการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงตามลำดับ โดยในวันพรุ่งนี้ (10 ต.ค.67) จะเริ่มปรับลดลงในอัตรา 50-100 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนบริเวณท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุด
สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำปิง
ในขณะนี้ระดับน้ำบริเวณเชียงใหม่ ระดับน้ำบริเวณสถานี P.1 สะพานนวรัฐ ได้ลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่งแล้ว โดยมวลน้ำได้ไหลไปยัง อ.สารภี และไหลไปสู่ จ.ลำพูน บริเวณ อ.เมืองลำพูน ซึ่งปัจจุบันยังมีปริมาณน้ำสูงแต่มีแนวโน้มลดลง คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7 วันนี้ และในส่วนของจังหวัดอื่น ๆ ที่ยังคงมีพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการให้ความช่วยเหลือเพื่อคลี่คลายสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจาก: สนทช.
ภาพจาก: AFP
ข่าวแนะนำ