ถอดบทเรียนน้ำท่วมภาคเหนือ ศปช.สั่งฟื้นฟูป่าไม้ เพิ่มพื้นที่ต้นน้ำด่วน!
ศปช.ถอดบทเรียนน้ำท่วมเชียงใหม่ - เชียงราย ยกเป็นโมเดลป้องกันน้ำท่วม ยืนยันไม่ใช่การบริหารผิดพลาด แต่เป็นเหตุการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบหลายร้อยปี พร้อมสั่งฟื้นฟูสภาพป่าไม้ด่วน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) โดยระบุว่า สถานการณ์น้ำท่วมอำเภอเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ เกิดขึ้นจากร่องฝนที่ตกหนัก 2 วัน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบหลายร้อยปี รวมถึงเหตุอุทกภัยที่ อำเภอแม่สาย ก็ไม่เคยเกิดดินโคลนถล่ม
ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ใช่ความผิดพลาดของหน่วยราชการหรือการบริหารจัดการ แต่เกิดจากสภาวะโลกร้อน และหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องจึงต้องรับไว้เป็นบทเรียน โดยต้องสร้าง 2 โมเดล คือ “โมเดลที่เชียงใหม่” และ “โมเดลที่เชียงราย”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีระบบป้องเมืองด้วยเขื่อนขนาดเล็ก จึงขอให้กรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทยศึกษาเรื่องนี้ พร้อมกับให้ร่วมกับมือกับส่วนท้องถิ่นศึกษาแนวทางเส้นทางน้ำให้เกิดการระบายน้ำให้มากที่สุด
รวมถึงขอให้ศึกษาอย่างจริงจังในการ “ฟื้นฟูสภาพป่าไม้” เพิ่มพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อสร้างความสมบูรณ์และป้องกันการพังทลายของดิน โดยให้จัดตั้งคณะทำงาน นำผู้มีประสบการณ์มีความรู้มาร่วมกันศึกษาและวางแผนในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป ซึ่งต้องการเห็นคำแนะนำที่จะสามารถเกิดเกิดขึ้นภายใน 3 เดือนนี้ เพื่อที่จะได้ดำเนินการออกแบบรับมือกับสถานการณ์ต่อไป
นอกจากจากนี้ ยังได้กำชับให้คณะทำงานภายใต้ ศปช. ประชุมและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่จังหวัดอยุธยาและใกล้เคียง ที่ได้รับผลกระทบการระบายน้ำ พิจารณาให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
จากการประเมินเบื้องต้นเขื่อนเจ้าพระยาจะระบายสูงสุดประมาณ 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยพยายามระบายน้ำในระดับคงที่ ที่ 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะเกิดผลกระทบในพื้นที่นอกคันกั้นน้ำในจังหวัดชัยนาท อยุธยา อ่างทอง และสิงห์บุรี แต่ไม่มีผลกระทบกับกรุงเทพมหานครเหมือนปี 2554 แน่นอน
สำหรับการหนุนของน้ำทะเลจะขึ้นสูงอีกครั้งในช่วงวันที่ 20-21 ตุลาคม 2567 ในช่วงเวลาดังกล่าวสถานการณ์ในภาคเหนือและภาคกลางตามคาดการณ์ฝนจะลดน้อยลง และฝนจะตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ โดยได้สั่งการให้มีการประชุมติดตามสถานการณ์เป็นประจำทุกวันเพื่อเตรียมการแก้ไขปัญหาได้ทันที หากมีฝนตกหนักเกิดขึ้น
ข่าวแนะนำ