โลกร้อนอยู่ยากเพราะทุกอย่างแปรปรวน! ปี 67 ฝนมากผิดปกติ ทำเชียงรายท่วมหนัก
"ดร.ธรณ์" เผย "วิกฤตน้ำท่วมเชียงราย" ตัวอย่างของ Extreme Weather หรือ สภาพอากาศสุดขั้ว โลกร้อนจึงเป็นโลกที่อยู่ยากเพราะทุกอย่างแปรปรวน
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับฝนตกหนักผิดปกติที่จังหวัดเชียงราย โดยระบุว่า
"ทำกราฟจากสถานีตรวจวัดของสสน.ที่เมืองเชียงรายมาให้เพื่อนธรณ์ดูว่าสถานการณ์รุนแรงแค่ไหน กราฟเริ่มต้นวันที่ 12 กย. ปีที่แล้ว จะเห็นว่าระดับน้ำในแม่น้ำกกอยู่ในระดับน้อยกว่าปรกติ วันเดียวกัน ปีนี้ ระดับน้ำล้นตลิ่งแบบไม่เคยมีมาก่อน และกราฟยังพุ่งสูงดิ่งขึ้นเรื่อยๆ แม้ช่วงที่น้ำล้นตลิ่งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยังน้อยกว่าหนนี้เยอะ ที่ต้องสังเกตอีกอย่างคือกราฟช่วงนี้ชันมาก หมายถึงน้ำถาโถมกันลงมาในเวลาอันสั้น เนื่องจากฝนตกหนักจากพายุยางิ โดยน้ำมาเร็วมากจนหนีไม่ทัน คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเมืองเชียงรายในขณะนี้ น้ำยังสูงมากอย่างที่คนในพื้นที่ไม่เคยพบเคยเห็น แม้แต่แยกพ่อขุนยังท่วม นั่นคือตัวอย่างง่ายๆ ของ extreme weather วันเดียวกัน เดือนเดียวกัน ต่างกันแค่ปี ทุกอย่างกลับตาลปัตร โลกร้อนจึงเป็นโลกที่อยู่ยากเพราะทุกอย่างแปรปรวน ยิ่งถ้าเรารักษาธรรมชาติไว้ไม่ดีพอ หรือของเราดีแต่เพื่อนบ้านไม่ดี ลุ่มน้ำเดียวกัน ผลกระทบย่อมต่อเนื่อง ยังรวมถึงการแชร์ข้อมูล การตรวจวัด ที่อาจไม่ได้อยู่มาตรฐานเดียวกัน หรือแม้กระทั่งไม่มีเลย แม่น้ำพรมแดน เช่น แม่สาย เป็นตัวอย่างของการขาดข้อมูลรวมกันทั้งลำน้ำ เนื่องจากอยู่ในหลายประเทศที่บางประเทศมีข้อจำกัด จะเห็นว่ามีอะไรต้องทำในการรับมืออีกเยอะเลย ก่อนนอนเช็คข้อมูลน้ำล่าสุด กราฟเริ่มมีวี่แววทรงตัว หวังว่าพรุ่งนี้จะดีขึ้น ส่งกำลังใจให้ทุกคนที่เชียงราย กู้ภัยทุกท่าน คนไทยไม่เคยทิ้งกัน แต่เราต้องหวังสิ่งที่ดีกว่านี้ในการรับมือในวันหน้า เพื่อไม่ให้ผู้คนต้องเสี่ยงต้องเหนื่อยดังเช่นวันนี้ครับ”
ที่มา: Thon Thamrongnawasawat
ข่าวแนะนำ