ทำความรู้จัก BKK FOOD BANK ธนาคารอาหารและมินิมาร์ทใจบุญ ช่วยลดคาร์บอนได้กว่า 1 ล้านกิโลคาร์บอนฯ
กรุงเทพมหานคร จัดทำโครงการ “BKK Food Bank” หรือ ธนาคารอาหาร สร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน ให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง ยังช่วยลดอาหารเหลือทิ้ง และลดคาร์บอนได้กว่า 1 ล้าน กิโลคาร์บอน
กรุงเทพมหานคร จัดทำโครงการ “BKK Food Bank” หรือ ธนาคารอาหาร เพื่อเป็นตัวกลางในการรวบรวมอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค จากผู้ที่อยากแบ่งปันและนำไปมอบให้กับผู้ที่ขาดแคลน โดยอาหารที่รวบรวมได้จะจัดไว้เป็นที่เก็บของคล้ายๆ ร้านสะดวกซื้อ และให้กลุ่มผู้เปราะบางที่อยู่ในฐานข้อมูลของแต่ละเขตมาเลือกของที่ต้องการ เช่น ข้าวสาร ไข่ น้ำปลา น้ำตาล เสื้อผ้า และของใช้ในชีวิตประจำวัน โดยนำแต้มที่เขตมอบให้มาแลกของที่ต้องการ
นอกจากเครื่องอุปโภคบริโภคแล้ว สำนักงานเขตยังมีการรับ - ส่งต่ออาหารส่วนเกิน (Food Surplus) จาก “ผู้บริจาค ตรงสู่ ผู้รับ” ในพื้นที่และให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยจะรับอาหารส่วนเกินจากผู้บริจาค สัปดาห์ละ 3 วัน (ทุกวันอังคาร พุธ พฤหัสบดี) และส่งตรงถึงมือผู้รับ เป็นการร่วมมือกับมูลนิธิ SOS ที่ช่วยประสานกับผู้บริจาคให้
โดยเมื่อวันที่ (9 ก.ย.) ที่ผ่านมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไปเปิดธนาคารอาหาร ที่เขตสะพานสูง ทำให้ให้ปัจจุบัน กทม.มีธนาคารอาหาร ครบแล้วทั้งหมด 50 เขต ซึ่งในปัจจุบันกรุงเทพมหานคร ยังมีประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีรายได้น้อย ตกงาน รวมถึงผู้ประสบภัย ที่ยังขาดแคลนอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็พบว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตเป็นอาหารส่วนเกิน (Food Surplus) และถูกทิ้งเป็นขยะทุกวัน และขยะที่มาจากอาหารคิดเป็นร้อยละ 50 ของขยะทั้งหมด กทม. ดังนั้นการมีธนาคารอาหารนอกจากได้ช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง ยังสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน ให้กลุ่มเปราะบางด้วย
ปัจจุบัน “BKK Food Bank” สามารถส่งต่ออาหารบริจาคได้ กว่า 4 แสน 4 หมื่นกิโลกรัม หรือนับเป็นมื้อได้ กว่า 1 ล้าน 8 แสนมื้อ ถึงมือผู้รับซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางแล้ว รวม 5,330 ราย จากข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้กว่า 23,000 ราย กลุ่มที่เข้ามารับบริการมากที่สุด ได้แก่ ผู้สูงอายุร้อยละ 36 ประชาชนผู้มีรายได้น้อยร้อยละ 33 เด็ก ร้อยละ 12 ผู้ด้อยโอกาสร้อยละ 6 คนพิการร้อยละ 5 เด็กในศูนย์เด็กเล็กฯร้อยละ 4 ผู้ป่วยติดเตียงร้อยละ 3 และคนไร้บ้านร้อยละ 1
ประเภทอาหารที่มีน้ำหนักมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เบเกอรี่ อาหารปรุงสุกพร้อมทาน ข้าว ผักและผลไม้ และน้ำเปล่า คิดเป็นปริมาณคาร์บอนที่ลดได้ กว่า 1 ล้าน 1 แสนกิโลคาร์บอน (CO2e)
ในส่วนขั้นตอนการรับสิ่งของภายในธนาคารอาหาร (BKK Food Bank) สำนักงานเขตฯ จะมีการรับ-ส่งต่ออาหารส่วนเกิน (Food surplus) จาก "ผู้บริจาค สู่ ผู้รับ" กลุ่มเปราะบางที่ได้ลงทะเบียนกับสำนักงานเขตแล้ว สามารถเข้ามาช้อปปิ้งภายใน BKK Food Bank Center ได้สัปดาห์ละ 3 วัน (ทุกวันอังคาร พุธ พฤหัสบดี) โดยแต่ละคนจะมีแต้ม จำนวน 300 แต้ม และต้องใช้ให้หมดภายใน 2 เดือน
สำหรับใครที่สนใจจะบริจาคของให้กับ BKK Food Bank ไปบริจาคได้สำนักงานเขตทุกเขต หรือที่ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า
ภาพ: กรุงเทพมหานคร
ข่าวแนะนำ