ไขข้อสงสัย ไต้ฝุ่น-เฮอริเคน-ไซโคลน ต่างกันอย่างไร?
ชื่อของพายุหมุนเขตร้อน แต่ละพื้นที่จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันเช่นไต้ฝุ่น เฮฮริเคน วิลลี-วิลลี และไซโคลน ขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิดของพายุ
ในช่วงกลางปีแบบนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้บ้านเรามีฝนตกหนักก็คือพายุ ซึ่งนอกจากพายุฝนฟ้าคะนองทั่วไปก็ต้องระวังพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งมักจะมีการก่อตัวของพายุบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกมากที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคมไปจนถึงตุลาคม
สำหรับพายุหมุนเขตร้อนนั้น เป็นพายุขนาดใหญ่ที่ก่อตัวขึ้นในทะเลและมหาสมุทรแถบเส้นศูนย์สูตร โดยก่อตัวขึ้นบริเวณผิวน้ำทะเลหรือมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 27 องศาเซลเซียส โดยจะหมุนทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือและหมุนตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้ แบ่งความรุนแรงเป็น 3 ระดับ
ระดับแรกคือ ดีเปรสชัน เมื่อทวีกำลังแรงขึ้นมาอีกก็จะเป็นระดับพายุโซนร้อน และจากโซนร้อนเมื่อทวีกำลังแรงและระดับที่สามคือไต้ฝุ่น ซึ่งแต่ละพื้นที่นั้นก็จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับมหาสมุทรที่พายุนั้นก่อตัวขึ้น
อย่างบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกนั้นจะเรียกพายุหมุนเขตร้อนที่มีความเร็วลมสูงกว่า 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมงว่า ไต้ฝุ่น ส่วนมากจะพบในช่วงเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม ส่วนพายุที่มีแหล่งกำเนิดบริเวณมหาสมุทรอินเดีย จะเรียกว่า ไซโคลน ส่วนมากมักก่อตัวในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ถ้าเป็นพายุบริเวณมหาสมุทรรอบออสเตรเลียและบริเวณหมู่เกาะต่าง ๆ จะเรียกว่า วิลลิวิลลี มักก่อตัวช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม และพายุบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก เราจะเรียกว่าเฮอริเคน จะพบการก่อตัวในช่วงเดือนมิถุนายนต่อเนื่องไปจนถึงเดือนตุลาคม
ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเอง หลังจากนี้ไปก็ต้องจับตามากขึ้น เพราะคาดว่าจะมีพายุบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกทวีกำลังแรงเป็นไต้ฝุ่นอีกหลายลูก
ข่าวแนะนำ