นักวิชาการเผยสาเหตุ "น่าน" น้ำท่วมหนัก เสียหายสุดในรอบ 100 ปี
"ดร.สนธิ" เผย "การตัดไม้ทำลายป่า" คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จังหวัดน่านเสียหายหนักในรอบ 100 ปี จากน้ำท่วม
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์เกี่ยวกับ การตัดไม้ทำลายป่าคือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จังหวัดน่านเสียหายหนักจากน้ำท่วม
ปีนี้ฝนตกที่จังหวัดน่านมีปริมาณมาก น้ำท่วมถึง 11 อำเภอ 56 ตำบล 412 หมู่บ้าน เสียหายหนักในรอบ 100 ปี สาเหตุมาจากอะไร?
1. ร่องมรสุมความกดอากาศต่ำพาดผ่านจังหวัดน่าน ประกอบกับภาวะโลกร้อนที่ทำให้ความชื้นในอากาศมีมากและลอยไปสะสมที่ร่องมรสุมดังกล่าว ทำให้เกิดฝนตกหนักมากขึ้นเป็น 2 เท่าจากปรกติ มีปริมาณฝนที่ตกสูงเกิน 200 มม.สูงสุดถึง 230 มม. ฝนที่ตกลงบนภูเขาได้พัดพาตะกอนดินไปกับน้ำไหลลงสู่พื้นที่ราบ น้ำมีสีแดงตะกอนขุ่น
2. จังหวัดน่านมีภูเขาหัวโล้นถึง 1.8 ถึง 2 ล้านไร่ จากการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ฝนที่ตกบนภูเขาปริมาณมากไม่ถูกต้นไม้ดูดซับไว้น้ำจึงไหลลงไปสู่พื้นที่ราบได้อย่างรวดเร็วท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านโดยไม่ทันตั้งตัว พื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดน่านทั้งหมดประมาณ 6 ล้านไร่ ปัจจุบันถูกทำลายไปถึงร้อยละ 28 ถึง30 หรือราว 1.8 ล้านไร่ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 70 ถึง 72 ก็ไม่มีพื้นที่ติดต่อกันจนเป็นผืนใหญ่ จึงไม่มีสภาพที่เป็นป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์ได้
3. แม่น้ำน่านล้นตลิ่ง น้ำไหลมาแรงและเร็ว การเตือนภัยช้า ประชาชนเตรียมตัวไม่ทัน
จากทั้ง 3 ปัจจัยนี้จึงทำให้เป็นสาเหตุที่จังหวัดน่านเกิดน้ำท่วมรุนแรงในปี 2567 สร้างเสียหายหนักในรอบ 100 ปี
ที่มา: เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat
ข่าวแนะนำ