"ลานีญา" มาช้ากว่าที่คาด NOAA ปรับใหม่คาดเริ่มต.ค.67
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช เผยว่า “ลานีญา” มาช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ หลายพื้นที่ปริมาณฝนมีแนวโน้มน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร เปิดเผยผ่าน facebook ส่วนตัว ว่า “ลานีญา” มาช้ากว่าคาด ช่วง มิ.ย. 67 – ก.ค. 67 ร้อนเดือดยาวนาน 14 เดือนต่อเนื่องทุบสถิติโลกใหม่ ลานีญาจะเกิดขึ้นช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนที่ผ่านมา น่าจะเริ่ม ต.ค. 67 และสิ้นสุด ก.พ. 68
ล่าสุดองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) รายงานว่าอุณหภูมิช่วง ม.ค. – ก.ค. 67 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 175 ปี เมื่อกับช่วงเวลาเดียวกัน โดยอุณหภูมิภาคพื้นดิน (Land Temperature) สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.90 องศาเซลเซียส นอกจากนั้น ทะเลก็เดือดขึ้น โดยอุณหภูมิในมหาสมุทร (Ocean Temperature) ช่วง ม.ค. – ก.ค. 67 สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.00 องศาเซลเซียส โดยโลกของเราอุณหภูมิเดือดทุบสถิติโลกใหม่ต่อเนื่องยาวนานถึง 14 เดือน ตั้งแต่ มิ.ย. 67 – ปัจจุบัน และเป็นปีที่ 46 ติดต่อกันนับจากปี ค.ศ.1977 ที่อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีสูงกว่าค่าเฉลี่ยของศตวรรษที่ 20 ขณะที่ 9 ปีที่ร้อนที่สุดในโลกเกิดขึ้นในช่วง 9 ปี ที่ผ่านมา (ค.ศ. 2015-2023)
ทาง Climate Prediction Center (NOAA) รายงานว่า เฟสกลางจะยืดเยื้อต่อเนื่องไปถึง ก.ย. 67 โดยปรากฎการณ์ลานีญาคาดว่าจะเกิดช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยลานีญาน่าจะขยับไปเริ่มในเดือน ต.ค. 67 และคาดว่าจะเพิ่มกำลังถึงจุดสูงสุดช่วง พ.ย. 67 – ม.ค. 68 โดยกำลังได้ปรับลานีญาลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสอยู่ในระดับอ่อนถึงปานกลางมากที่สุด ขณะที่กำลังลานีญาระดับรุนแรงมีโอกาสเกิดราว 12% ลดลงจากเดิมที่ 27%
ทางศูนย์พยากรณ์อากาศระยะปานกลางแห่งยุโรป (ECMWF) พยากรณ์ว่าปรากฎการณ์ลานีญาคาดว่าจะเริ่มในเดือน ต.ค. 67 และน่าจะเพิ่มกำลังจนถึงจุดสูงสุดในเดือน ม.ค. 68 จากนั้นจะเริ่มลดกำลังลงและสิ้นสุดในเดือน ก.พ. 68 โดยเฟสกลางจะกลับมาตั้งแต่ มี.ค.-ส.ค. 68
ส่วนเดือน ก.ย. 67 ค่าเฉลี่ยผลพยากรณ์ของสำนักอุตุนิยมวิทยา 13 สำนักทั่วโลกบ่งชี้ว่าปริมาณฝนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติทั่วประเทศ ภาคอีสานบริเวณที่ติดชายแดนฝั่ง สปป. ลาว และภาคตะวันตก ปริมาณฝนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติมากกว่าภูมิภาคอื่น และภาคตะวันออกฝนจะมามากกว่าเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนที่แล้ว ต้องระวังน้ำท่วมทุกภูมิภาคต่างๆ (ยกเว้นภาคใต้)
ขณะที่เดือน ต.ค. 67 ปริมาณฝนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยเกือบทั่วประเทศต่อเนื่องจากเดือน ก.ย. 67 ยกเว้นภาคเหนือตอนบนที่ปริมาณฝนจะมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ยปกติ โดยภาคใต้ต้องระวังปริมาณฝนที่จะมากและน้ำท่วม เนื่องจากเป็นเดือนที่ภาคใต้เริ่มมีปริมาณฝนมากในรอบปี
เดือน พ.ย. 67 ปริมาณฝนมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ยปกติในเกือบทุกภูมิภาคยกเว้นภาคใต้ที่จะยังคงมีปริมาณฝนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และยังคงต้องระวังน้ำท่วมเพราะยังเป็นเดือนที่ปริมาณฝนสูงในรอบปี โดยภาคใต้ตอนล่างต้องระวังปริมาณฝนมากกว่าภาคใต้ตอนบน
ขณะที่เดือน ธ.ค. 67 ทุกภูมิภาคปริมาณฝนมีแนวโน้มเข้าสู่ค่าเฉลี่ยปกติ ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง รวมถึงภาคใต้ตอนบนบางส่วน (สุราษฎร์ธานี พังงา และนครศรีธรรมราช) ที่จะยังคงมีปริมาณฝนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยปกติและยังคงต้องระวังน้ำท่วมต่อเนื่อง
เดือน ม.ค. 68 ปริมาณฝนจะอยู่ในภาวะปกติในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคใต้ตอนล่างที่คาดว่าจะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว โดยผลพยากรณ์ใหม่คาดว่าจะมีปริมาณฝนที่มากกว่าการพยากรณ์ในเดือนที่ผ่านมา ขณะที่เดือน ก.พ. 68 ปริมาณฝนจะอยู่ในภาวะปกติในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคใต้ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ภัยแล้งมีแนวโน้มบรรเทาลงในภาคใต้ช่วงฤดูแล้ง
IRI มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา พยากรณ์ว่าช่วง ก.ย. เป็นต้นไป ปริมาณฝนมีแนวโน้มลดลงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ซึ่งอาจจะมาจากการที่ลานีญามาช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนจะเริ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติตั้งแต่กลาง ก.ย. -พ.ย.67 เกือบทุกภูมิภาค (ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง) อีสานและตะวันออก (ตราด จันทบุรี สระแก้ว บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร มุกดาหาร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ นครพนม) ต้องระวังน้ำท่วมให้มาก ขณะที่ภาคใต้ต้องระวังปริมาณฝนมากและน้ำท่วมช่วง พ.ย.-ธ.ค. 67 โดยฝนคาดว่าจะมากกว่าปกติต่อเนื่องช่วง ม.ค.-ก.พ. 68
แม้ปริมาณฝนมีแนวโน้มลดลงน้อยกว่าที่พยากรณ์ไว้ในเดือนที่ผ่านมา แต่ยังคงต้องเตรียมพร้อมด้วยความไม่ประมาท และเตรียมกับมือกับปริมาณฝนที่จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติจากนี้ถึงกลาง ก.ย.-ธ.ค. 67 เตรียมทางระบายน้ำให้ดีเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง ระวังขยะอุดตันทางระบายน้ำ ต้องเร่งขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ และต้องหาทางเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในฤดูแล้งปีหน้ากันด้วยนะครับ อย่าปล่อยให้ไหลลงทะเลไปจนหมด ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สูงต้องระวังดินถล่มกันด้วยนะครับ
เกษตรกรผู้ปลูกข้าวต้องระวังข้าวล้มช่วงใกล้ฤดูเก็บเกี่ยว สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนต้องระวังผลทุเรียนเน่าเสียและลมแรง สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราการกรีดยางอาจทำได้ยากขึ้น ฝนที่มากอาจทำให้เลี้ยงสัตว์แฉะและสภาพแวดล้อมไม่สะอาดซึ่งเป็นสาเหตุของการแพร่กระจายโรคในสัตว์ สำหรับการทำประมง ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำจืดไหลลงทะเลส่งผลต่อความเค็มและสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำซึ่งอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ
ภาพ/ที่มา: FB Witsanu Attavanich
ข่าวแนะนำ