"ลานีญา" อาจทำปี 67 น้ำท่วม กทม. สมุทรปราการ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมสูง
“ดร.สนธิ” เตือน “ลานีญา” อาจทำปี 2567 น้ำท่วม โดยกรุงเทพฯ และสมุทรปราการเป็นเมืองที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมสูง
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์เกี่ยวกับ “ลานีญา” จะส่งผลทำให้ฝนตกน้ำท่วม ส่วนฤดูหนาวปีนี้จะมีฝนตกและอากาศหนาวเย็นลง โดยระบุดังนี้
1. ปรากฎการณ์ที่ฝนตกหนักในพื้นที่บางแห่งได้เริ่มเกิดขึ้นให้เห็นเป็นประจำโดยเฉพาะจังหวัดที่ใกล้กับทะเลและใกล้ภูเขา เช่นชลบุรี ระยอง เชียงราย แม่ฮ่องสอน เป็นต้น สาเหตุสำคัญมาจากปัจจัย 3 ประ การ คือ โลกร้อนขึ้น ปรากฎการณ์ลานีญา และฤดูของลมมรสุม
1.1. ปัจจุบันโลกร้อนขึ้นจากช่วงก่อนปฎิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.2 องศาเซลเซียส ทำให้มีไอน้ำจากทะเล (water vapor) ระเหยขึ้นถึง 7% จากก่อนยุคอุตสาหกรรม น้ำจากทะเลและมหาสมุทรระเหยกลายเป็นเมฆบนท้องฟ้า เมื่อมีปริมาณมากจะรวมตัวกลายเป็นเมฆฝนครึ้มลอยเข้าฝั่งตามทิศทางลม หากลมแรงก็ลอยลึกเข้าไปอีก มาเจออากาศที่เย็นกว่า ทำให้เกิดการกลั่นตัวเป็นฝนตกลงมายิ่งผสมกับสภาวะลานีญาซึ่งเป็นภาวะที่น้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกร้อนขึ้นและพัดมายังฝั่งตะวันตกแถบอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ทำให้เกิดเมฆฝนในมหาสมุทรมากขึ้นและเป็นเหตุให้พื้นที่ใกล้เคียงมีฝนตกหนักมากขึ้นไปอีก
1.2. อุตุนิยมวิทยาโลกคาดการณ์ว่าภาวะลานีญาครึ่งปีหลังของปี 2024 จะส่งผลให้พื้นที่โลกที่จะมีฝนตกหนักคือ Southern Africa, Southeast Asia, and Australia จะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2024 ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2025 ดังนั้น อากาศในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทยปีนี้จะมีอากาศหนาวเย็นลงและมีฝนตกมากกว่าปีก่อน
1.3. ขณะที่เดือนสิงหาคมถึงตุลาคมเป็นช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ลมจะพัดพาเอาไอน้ำจากอ่าวไทยและมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าฝั่งมากขึ้นด้วย หากกลายเป็นเป็นพายุโซนร้อนหรือพายุดีเปรสชั่นหรือความกดอากาศต่ำทำให้ฝนตกบนฝั่งรุนแรงมากขึ้นไปอีกเท่าตัว
2. พื้นที่เป็นเมืองมีตึกสูงจำนวนมากหรือเป็นที่ราบลุ่มมีต้นไม้จำนวนมากอยู่ใกล้ทะเลและเป็นร่องลมพัดผ่าน จะเกิดปรากฎการณ์ฝนตก หนักมากเพราะอาคารสูงต่างๆและต้นไม้หนาแน่นจะลดความเร็วของลมลง จึงทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นหย่อมๆ (pouring rain) ในเมืองดังกล่าว เกิดน้ำท่วมหนักได้ ดังเช่นกรุงโซลเกาหลีใต้ บางเมืองในประเทศจีนและบังคลาเทศ
3. ปีนี้ปรากฎการณ์ลานีญาจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 กรุงเทพฯ และสมุทรปราการเป็นเมืองที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมสูงเนื่องจากมีปัจจัยครบ คืออยู่ในร่องมรสุม ใกล้ทะเล อาคารสูงจำนวนมากและสภาวะลานีญาที่ทำให้ฝนตกหนัก น้ำทะเลหนุน น้ำเหนือไหลหลาก และอยู่ในที่ลุ่มต่ำ ดังนั้นช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมจะมีความเสี่ยงในเรื่องน้ำท่วมได้ ซึ่งต้องรีบป้องกันอย่างเร่งด่วน
4. จากการคาดการณ์ด้วยclimate change model พบว่าประเทศไทยจะได้รับความเสี่ยงจากฝนตกหนัก 80-100% จากที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โอกาสที่ฝนจะตกหนักที่ภาคเหนือและภาคอีสานมีมากขึ้น เส้นทางน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักไหลจะผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ชัยนาทและจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่จังหวัดลพบุรีมาเจอกันที่อยุธยาไหลมายังจังหวัดปทุมธานี นนทบุรีมายังกรุงเทพและออกอ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรปราการ หากจังหวัดอยุธยาและปทุมธานีรับไม่ไหวกรุงเทพก็อาจประสบน้ำท่วมได้
ที่มา: เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat
ข่าวแนะนำ