เปิดสถิติเส้นทางพายุเข้าไทยเดือนส.ค. เหนือ-อีสานเสี่ยงสุด
ในเดือนสิงหาคม นอกจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และร่องมรสุมที่มีกำลังแรงขึ้นแล้วอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้บ้านเรามีฝนเพิ่มขึ้น ก็คือ อิทธิพลจากพายุนั่นเอง
จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าในรอบ 73 ปี นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2494 จนถึงปีพ.ศ. 2566 นั้นในเดือนสิงหาคมมีพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทั้งหมด 24 ลูก เข้ามาในลักษณะพายุดีเปรสชัน 21 ลูก และเข้ามาในระดับโซนร้อน 3 ลูก ซึ่งจากสถิติพบว่าส่วนมากพายุจะเคลื่อนเข้าไทยประมาณช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือน มากกว่าต้นเดือน
.
โดยในเดือนสิงหาคมนั้น พายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าบ้านเราจะก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนและจะเคลื่อนขึ้นฝั่งเวียดนามตอนบน ผ่านลาวและเข้าบ้านเราแถว ๆ ภาคอีสานตอนบนและทะลุไปถึงภาคเหนือ ส่วนรูปแบบรองคือพายุมักจะก่อตัวบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก จากนั้นจะเคลื่อนผ่านฟิลิปปินส์ตอนบนลงสู่ทะเลจีนใต้ และเคลื่อนเข้าบ้านเราแถว ๆ ตอนบนของภาคอีสานและภาคเหนือต่อไป แต่พบได้น้อยกว่ารูปแบบแรก เพราะฉะนั้นในเดือนนี้พื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากพายุมากที่สุดจะเป็นบริเวณภาคอีสานตอนบนและภาคเหนือ
.
เพราะฉะนั้นหลังจากนี้ ก็มีโอกาสที่จะมีมีพายุเคลื่อนเข้าบ้านเรามากขึ้น ถึงแม้ความรุนแรงของพายุอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนได้ แต่อีกมุมหนึ่งปริมาณฝนที่มาพร้อมกับพายุก็สามารถเข้ามาช่วยเติมน้ำในเขื่อนและพอช่วยบรรเทาภัยแล้งได้
ข่าวแนะนำ