TNN ปภ. เตือน 44 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าหลาก น้ำล้นตลิ่ง 24-31 ก.ค. 67

TNN

Earth

ปภ. เตือน 44 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าหลาก น้ำล้นตลิ่ง 24-31 ก.ค. 67

ปภ. เตือน 44 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าหลาก น้ำล้นตลิ่ง 24-31 ก.ค. 67

ปภ. เตือน 44 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ช่วง 24-31 ก.ค. 67

วันนี้ (22 กรกฎาคม 2567) เวลา 12.30 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 44 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 24-31 กรกฎาคม 2567 โดยให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง รวมถึง ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและพนังกั้นน้ำ เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักร แจ้งสถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนล่วงหน้าให้กับประชาชนทราบ


นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีนประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 24 – 31 กรกฎาคม 2567 ดังนี้


พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ดังนี้


ภาคเหนือ 11 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองฯ ปางมะผ้า ปาย ขุนยวม แม่ลาน้อย แม่สะเรียง สบเมย) เชียงใหม่ (อ.เมืองฯ อมก๋อย สันป่าตอง ดอยเต่า) เชียงราย (อ.เมืองฯ แม่สาย  แม่จัน พาน) พะเยา (อ.เมืองฯ ปง เชียงคำ เชียงม่วน) แพร่ (อ.เมืองฯ เด่นชัย ลอง วังชิ้น) น่าน (อ.เมืองฯ เฉลิมพระเกียรติ ทุ่งช้าง เชียงกลาง สองแคว ปัว ท่าวังผา) อุตรดิตถ์ (อ.เมืองฯ ลับแล พิชัย ทองแสนขัน ท่าปลา) ตาก (อ.เมืองฯ ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ อุ้มผาง) สุโขทัย (อ.ศรีสัชนาลัย ทุ่งเสลี่ยม ศรีสำโรง) พิษณุโลก (อ.ชาติตระการ นครไทย วังทอง เนินมะปราง) และเพชรบูรณ์ (อ.เมืองฯ หล่มเก่า หล่มสัก)


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย (อ.นาแห้ว เชียงคาน ด่านซ้าย ปากชม) หนองคาย (อ.เมืองฯ ศรีเชียงใหม่ โพนพิสัย) บึงกาฬ (อ.บุ่งคล้า โซ่พิสัย เซกา บึงโขงหลง) อุดรธานี (อ.นายูง น้ำโสม) สกลนคร (อ.เมืองฯ อากาศอำนวย) นครพนม (อ.เมืองฯ ศรีสงคราม ธาตุพนม) และอุบลราชธานี (อ.น้ำยืน ศรีเมืองใหม่)


ภาคกลาง 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี (อ.เมืองฯ สังขละบุรี ทองผาภูมิ ศรีสวัสดิ์ ไทรโยค ด่านมะขามเตี้ย) ราชบุรี (อ.สวนผึ้ง บ้านคา) นครนายก (อ.เมืองฯ บ้านนา) ปราจีนบุรี (อ.เมืองฯ ประจันตคาม นาดี) สระแก้ว (อ.เมืองฯ วัฒนานคร โคกสูง อรัญประเทศ) ชลบุรี (อ.เมืองฯ ศรีราชา) ระยอง (อ.เมืองฯ ปลวกแดง นิคมพัฒนา แกลง) จันทบุรี (อ.เมืองฯ เขาคิชฌกูฏ มะขาม ขลุง แหลมสิงห์) ตราด (อ.เมืองฯ บ่อไร่ เขาสมิง แหลมงอบ คลองใหญ่ เกาะช้าง เกาะกูด) เพชรบุรี (อ.แก่งกระจาน หนองหญ้าปล้อง) และประจวบคีรีขันธ์ (อ.หัวหิน ปราณบุรี บางสะพาน)


ภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง (อ.เมืองฯ กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ สุขสำราญ) พังงา (อ.เมืองฯ คุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง ท้ายเหมือง) ภูเก็ต (อ.เมืองฯ กะทู้ ถลาง) ตรัง (อ.เมืองฯ ปะเหลียน นาโยง กันตัง ห้วยยอด หาดสำราญ รัษฎา วังวิเศษ) และสตูล (อ.เมืองฯ ควนโดน ควนกาหลง ทุ่งหว้า มะนัง)


พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ 25 จังหวัด 


ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา น่าน สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี ปราจีนบุรี ตราด และระนอง


พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 


ได้แก่ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำน่าน (อ.เวียงสา จ.น่าน) แม่น้ำแควน้อย (อ.นครไทย จ.พิษณุโลก) แม่น้ำป่าสัก (อ.หล่มสัก และหนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์) ลำน้ำพอง (อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น) ลำน้ำก่ำ (อ.เรณูนคร จ.นครพนม) แม่น้ำชี (อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น) ลำเซบาย (อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร) แม่น้ำยัง (อ.เสลภูมิ และโพนทอง จ.ร้อยเอ็ด) แม่น้ำตราด (อ.เมืองฯ เขาสมิง และบ่อไร่ จ.ตราด)


กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 44 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยติดตามสภาพอากาศ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า อีกทั้งจัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที 


พร้อมกำชับให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุนที่ชุมชนเมือง ที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน  รวมถึงประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบได้เตรียมพร้อมรับมือและอพยพได้ทันท่วงที


ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจาก ทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกล้มทับ รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกร ให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย


ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป


ปภ. เตือน 44 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าหลาก น้ำล้นตลิ่ง 24-31 ก.ค. 67



ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ