TNN วิกฤตทะเลไทย น้ำทะเลร้อนกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี

TNN

Earth

วิกฤตทะเลไทย น้ำทะเลร้อนกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี

วิกฤตทะเลไทย น้ำทะเลร้อนกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี

มีการคาดการณ์ว่า อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นต่อเนื่องอาจทำให้เกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่

ข้อมูลจากผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุว่า อุณหภูมิน้ำทะเลปีนี้ร้อนกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีประมาณ 1 องศาโดยสถิติกำลังถูกทำลายลงแบบปีต่อปี และจากผลกระทบโลกร้อนในทะเลไทย อาจทำให้เกิดระบบนิเวศใต้ท้องทะเลเสียหายได้ ทั้งเรื่องปะการังฟอกขาว วิกฤตหญ้าทะเล และแพลงก์ตอนบลูม อย่างแรกเลยคือ ปะการังฟอกขาว - เมื่อน้ำร้อนจัด ปะการังจะเกิดอาการผิดปกติ สีซีดจางลงจนอาจถึงขั้นตาย จากนั้นก็มีสาหร่ายขึ้นคลุมจนยากที่จะฟื้นได้ ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สมัยก่อนเคยเกิดทุก 10-15 ปี แต่เมื่อโลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ความถี่ในการเกิดเริ่มเยอะ จนในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา เกิดถี่ยิบแทบทุกปีในมหาสมุทรต่าง ๆ ของโลก ตามด้วยเรื่องของวิกฤตหญ้าทะเล – มีรายงานต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ว่าหญ้าทะเลบางพื้นที่ในจังหวัดตรังเริ่มลดน้อยลง ก่อนจะลุกลามไปทั่วเกือบทุกแห่งในจังหวัดช่วงปี 2566 ต่อเนื่องถึงปีนี้ โดยคาดว่าโลกร้อนมีส่วนเกี่ยวข้องหลายประการ เช่น ทำให้ปัจจัยสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ล่าสุด เริ่มมีรายงานเพิ่มมากขึ้นในจังหวัดกระบี่ พังงา และบางส่วนของจังหวัดสตูล โดยพบว่าหญ้าทะเลสีซีดเน่าเปื่อยจากปลายใบลงมาหาโคน เกิดลักษณะใบกุด ก่อนสุดท้ายรากจะเน่าและหายไป และเรื่องที่สามคือ น้ำเขียว แพลงก์ตอนบลูม ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในทะเลไทย น้ำทะเลกลายเป็นสีเขียวเต็มไปด้วยแพลงก์ตอนพืช เหตุการณ์เช่นนี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เมื่อในน้ำมีธาตุอาหารเยอะและมีแสงแดดจัด แพลงก์ตอนอาจเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว กลายเป็นน้ำเขียวที่กินเวลา 2-3 วันก่อนหายไป โดยน้ำทะเลจะมีสีขุ่น มีกลิ่น และอาจทำให้เกิดอาการคันบ้าง ดังนั้นก็จะเห็นว่า โลกร้อนไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศบนพื้นดิน แต่โลกใต้น้ำก็ได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้กัน

ข่าวแนะนำ