กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า เปิดข้อมูลหลังมีการค้นพบ”ถ้ำหินกรวดมน” ที่ขนาดความยาวอันดับ 8 ของโลก ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จ.น่าน เตรียมผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
นายรณกฤต จักร์เงิน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เผยว่าคณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา พร้อมด้วยนายพัลลภ กฤตยานวัช ที่ปรึกษาสมาคมอุทยานแห่งชาติ ได้เข้าสำรวจถ้ำรวยสายไท (ถ้ำหมา) ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จ.น่าน ซึ่งเป็นถ้ำที่สวยงาม และเตรียมผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
โดยการค้นพบถ้ำหินกรวดมน (conglomerate cave) จำนวน 5 ถ้ำ ได้แก่ ถ้ำหมา ถ้ำยาง, ถ้ำผาฆ้อง, ถ้ำเตียง และถ้ำน้ำตก แต่สำหรับถ้ำหมา ถ้ำยาง นั้นถูกระบุว่ามีความยาวถึง 2,371เมตร ถือว่าเป็นถ้ำหินกรวดมที่มีความยาวเป็นอันดับ 8 ของโลก ซึ่งถ้ำแห่งนี้มีอีกชื่อเรียกว่า ถ้ำรวยสายไท ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำปัวพัฒนา หมู่ที่ 12 ต.ภูคา อ.ปัว จ.น่าน อยู่ห่างจากอุทยานแห่งชาติดอยภูคประมาณ 13 กิโลเมตร ส่วนการเดินทางต้องผ่านถนนคอนกรีตและลูกรัง และเดินเท้าจากถนนถึงปากถ้ำระยะทาง 800 เมตร ก่อนหน้านี้มีการเข้ามาสำรวจถ้า ถ้ำรวยสายไท หรือถ้ำหมา ถ้ำยาง มาแล้วเมื่อปี 2559 โดย Shepton Mallet Caving Club ชมรมนักปีนเขาจากประเทศอังกฤษ พบว่าถ้ำแห่งนี้มีน้ำไหลตลอดปี เกิดเป็นน้ำตกเล็กๆภายในถ้ำ และมีความงดงามของหินงอกหินย้อยเป็นจำนวนมาก
ส่วนถ้ำที่เกิดขึ้นในภูเขาหินกรวดมน ที่เป็นหินตะกอนเนื้อหยาบ (coarse-grained clastic sedimentary rock) จะประกอบด้วยเศษหินหรือเม็ดกรวด ที่มีลักษณะกลม หรือผิวลื่นจากการกระทำของคลื่นในยุคดึกดำบรรพ์มาก่อน มักมีส่วนผสมและขนาดต่างๆกัน ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 2 มิลลิเมตร ฝังตัวผสมอยู่ในเนื้อหินตะกอนพื้นละเอียดขนาดทรายหรือทรายแป้ง และมักมีวัตถุประสานจำพวกแคลเซียมคาร์บอเนต เหล็กออกไซด์ ซิลิกา หรือตะกอนดินเหนียวที่แข็งตัว หินกรวดมนเหล่านี้ มักมองเห็นชัดบนเพดานถ้ำ ผนัง หรือบนก้อนหินที่ถล่มลงมาจากเพดาน โดยในประเทศไทยหินกรวดมนมีอายุอยู่ในมหายุคมีโซโซอิค สำหรับถ้ำหินกรวดมนเป็นถ้ำที่พบเห็นยากแตกต่างจากถ้ำหินปูนทั่วไป เกิดจากการก่อตัวของสารแคลเซียมคาร์บอเนต คล้ายกับถ้ำหินปูนในภูมิประเทศแบบคาร์สต์ (karst cave)
หากผู้ใดสนใจท่องเที่ยวถ้ำรวยสายไท (ถ้ำหมา) สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา เพื่อเยี่ยมชมได้ ซึ่งทางอุทยานฯจะจัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ และนำเข้าชมความงดงามของถ้ำ
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช