ยูเนสโก เตือน "ธารน้ำแข็ง" หลายแห่ง อาจหายไปภายในปี 2050
องค์การยูเนสโก (UNESCO) ระบุว่า ธารน้ำแข็งที่มีชื่อเสียงหลายแห่งของโลก จะ "ละลายหายไป" ภายในปี 2050 เนื่องจากภาวะโลกร้อน และจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น
องค์การยูเนสโก (UNESCO) ระบุว่า 1 ใน 3 ของธารน้ำแข็งทั้งหมดประมาณ 18,600 แห่ง ที่อยู่ในแหล่งมรดกโลก จะหายไปภายในปี 2050 และถ้าหากยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงปี 2100 ธารน้ำแข็งเหล่านั้นจะหายไปประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 รวมถึงธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก อย่างเช่นธารน้ำแข็งโดโลมิติ หรือโดโลไมท์ในอิตาลี , ธารน้ำแข็งโยเซมิติและในอุทยานเยลโลว์สโตนในสหรัฐฯ รวมไปถึงธารน้ำแข็งบนเทือกเขาคิลิมันจาโรในแทนซาเนีย ซึ่งล้วนเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกที่มีชื่อเสียง ขณะนี้ธารน้ำแข็งที่อยู่ในแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก ละลายสูญเสียน้ำแข็งไปเฉลี่ย 58,000 ล้านตันในทุก ๆ ปี ซึ่งมีส่วนสร้างปัญหาระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเกือบร้อยละ 5 ทั่วโลก ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งปัญหาชายฝั่งถูกกัดเซาะ พายุก่อตัวง่ายและรุนแรงมากขึ้น รวมถึงทำให้แผ่นดินทรุดตัว และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบริเวณชายฝั่ง ทั้งแนวปะการัง ป่าชายเลน รังเต่าตามแนวชายหาด อย่างไรก็ตาม องค์การยูเนสโก ระบุว่า “แต่ยังเป็นไปได้ที่พวกเราจะปกป้องธารน้ำแข็งที่เหลืออยู่อีก 2 ใน 3 โดยมีเงื่อนไข หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยวิธีที่จะรักษาธารน้ำแข็งทั่วโลกไม่ให้ละลายหายไป คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่สร้างปัญหาโลกร้อนให้ได้มากที่สุดให้ได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว หลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงกรุงเทพของไทยก็อาจจะต้องจมน้ำเหมือนกับที่นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนไว้