ประกาศ ฉ.4 "พายุนัลแก" เจอมวลอากาศเย็น ไทยตอนอุณหภูมิลด 2-4 องศาฯ
ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับ 4 "พายุนัลแก" แนวโน้มเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน 2-3 พ.ย. 65 ขณะที่ความกดอากาศสูง แผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้พายุอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว โดยไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย
ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับ 4 "พายุนัลแก" แนวโน้มเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน 2-3 พ.ย. 65 ขณะที่ความกดอากาศสูง แผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้พายุอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว และช่วง 2-6 พ.ย. ไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลงอีก 2-4 องศาเซลเซียสกับมีลมแรง
วันนี้ (1 พ.ย.65) เวลา 05.00 น. นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 4 เรื่อง "พายุนัลแก" โดยมีรายละเอียดดังนี้
เมื่อเวลา 05.00 น. วันนี้ (1 พ.ย. 65) พายุโซนร้อนกำลังแรง “นัลแก” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 18.7 องศาเหนือ ลองจิจูด 116.0 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้มีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนในช่วงวันที่ 2 - 3 พ.ย. 65 นี้
ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ในช่วงวันที่ 2 – 5 พ.ย. 65 ลักษณะเช่นนี้ จะทำให้พายุอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยา ยังคาดหมายอากาศทั่วไปวันที่ 31 ตุลาคม - 6 พฤศจิกายน 2565 ว่า ในช่วงวันที่ 31 ต.ค. – 1 พ.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบน อุณหภูมิจะลดลง 1 – 2 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิจะเริ่มลดลงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงในระยะถัดไป
ส่วนในช่วงวันที่ 2 – 6 พ.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลงอีก 2-4 องศาเซลเซียสกับมีลมแรง สำหรับร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง.
ข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา
ภาพจาก himawari8.nict.go.jp