เปิดที่มา "การตั้งชื่อพายุ" เช็กรายชื่อพายุที่ตั้งโดยประเทศไทย มีอะไรบ้าง?
เปิดที่มา "การตั้งชื่อพายุ" พร้อมเช็กรายชื่อพายุที่ตั้งโดยประเทศไทย มีอะไรบ้าง?
กรมอุตุนิยมวิทยา เผยพายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบนได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน "ศรีตรัง (SITRANG)" แล้ว กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือ คาดว่าจะแผ่เข้าปกคลุมประเทศบังคลาเทศ พายุนี้ไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย
สำหรับชื่อ "ศรีตรัง" นั้น เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า "SITRANG" ตั้งชื่อโดยประเทศไทย หมายถึง ไม้ต้น 2 ชนิดในวงศ์แคหางค่าง ใบเป็นฝอยเล็ก ชนิดหนึ่งมีดอกสีม่วง อีกชนิดหนึ่งมีดอกสีม่วงปนน้ำเงิน
ภาพจาก กรมอุตุนิยมวิทยา
พายุหมุนเขตร้อนเป็นคำทั่ว ๆ ไปที่ใช้สำหรับเรียก "พายุหมุน" หรือ "พายุไซโคลน" ที่มีถิ่นกำเนิดเหนือมหาสมุทรในเขตร้อนแถบละติจูดต่ำ แต่อยู่นอกเขตบริเวณเส้นศูนย์สูตร เพราะยังไม่เคยปรากฏว่ามีพายุหมุนเขตร้อนเกิดที่เส้นศูนย์สูตร
พายุนี้เกิดขึ้นในมหาสมุทรหรือทะเลที่มีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 26-27 องศาเซลเซียสขึ้นไป และมีปริมาณไอน้ำสูง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มักเคลื่อนตัวตามกระแสลมส่วนใหญ่จากทิศตะวันออกมาทางทิศตะวันตก และค่อยโค้งขึ้นไปทางละติจูดสูง
แล้วเวียนโค้งกลับไปทางทิศตะวันออกอีก พายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นได้หลายแห่งในโลก และมีชื่อเรียกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด บริเวณที่มีพายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นเป็นประจำ ได้แก่
- มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก ทางตะวันตกของลองจิจูด 180 องศา เรียกว่า "ไต้ฝุ่น" เกิดมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม ถึงตุลาคม เป็นบริเวณที่เกิดพายุหมุนมากที่สุด
- มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือแถวทะเลแคริบเบียนและอ่าวเม็กซิโก เรียกว่า "เฮอร์ริเคน" เกิดมากในเดือนสิงหาคม ถึงตุลาคม
- มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ฝั่งตะวันตกของประเทศเม็กซิโก เรียกว่า "เฮอร์ริเคน"
- มหาสมุทรอินเดียเหนือ เรียกว่า "ไซโคลน"
- มหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย เรียกว่า "ไซโคลน" เกิดมากในเดือนธันวาคม ถึงกุมภาพันธ์
ภาพจาก กรมอุตุนิยมวิทยา
หลักการตั้งชื่อพายุ
เดิมทีประเทศสหรัฐฯ จะเป็นผู้ตั้งชื่อพายุของทั่วโลกมาโดยตลอด เพราะเป็นประเทศเดียวที่มีความเพียบพร้อมทางเทคโนโลยีทางดาวเทียมตรวจสภาพ อากาศ ดูความเคลื่อนไหวของพายุ
การตั้งชื่อพายุสมัยก่อนนั้นจะใช้ชื่อผู้หญิงในการตั้ง เพราะฟังแล้วจะดูอ่อนโยนอ่อนหวาน ทำให้ดูรุนแรงน้อยลง ในกรณีที่ผู้ตั้งชื่อเป็นนักเดินเรือ ก็จะตั้งชื่อพายุเพื่อคลายความคิดถึง ถึงคนที่เป็นที่รัก แต่ภายหลังก็มีนักสิทธิสตรีในสหรัฐฯ ออกมาประท้วงว่าการตั้งชื่อพายุทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงโหดร้าย ภายหลังจึงมีการตั้งชื่อผู้ชายด้วย
กระทั่งปี ค.ศ.2000 ได้มีการเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ จากทุกโซนของโลกเสนอชื่อพายุได้ประเทศละ 10 ชื่อ โดยกำหนดให้ใช้ภาษาท้องถิ่นในแต่ละประเทศในการตั้งชื่อพายุ
เกณฑ์การตั้งชื่อพายุ
1. เมื่อมีพายุที่มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางของพายุมากกว่า 34 น็อต หรือ 63 กม./ชม. พายุนั้นจะถูกตั้งชื่อ
2. ชื่อของพายุจะเริ่มใช้ที่คอลัมน์ที่หนึ่งตัวบนสุดก่อน เช่น เมื่อมีพายุเกิดขึ้นมีความเร็วลมสูงสุด ใกล้จุดศูนย์กลาง ตามที่กำหนด ในข้อ 1. เป็นตัวแรกของปี พายุนั้นจะมีชื่อว่า "Damrey (ดอมเรย์)"
3. เมื่อมีพายุตัวต่อไปเกิดขึ้นอีก และมีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางตามที่กำหนดในข้อ 1. พายุนั้นจะใช้ชื่อที่อยู่ถัดลงมา ในคอลัมน์ที่ 1 เช่น พายุตัวที่สองจะมีชื่อว่า "Longwang (หลงหวาง)"
4. เมื่อใช้จนหมดคอลัมน์ให้ใช้ชื่อแรกของคอลัมน์ที่อยู่ถัดไป เช่น พายุที่เกิดหลังพายุ "Trami (ทรามี)" จะใช้ชื่อ "Kongrey (กองเรย์)"
5. เมื่อใช้จนหมดคอลัมน์ที่ 5 ให้กลับมาใช้ชื่อแรกของคอลัมน์ที่ 1 เช่น พายุที่เกิดหลังพายุ "Saola (เซลลา)" จะใช้ชื่อ "Damrey (ดอมเรย์)"
ภาพจาก AFP
ในส่วนของประเทศไทย ตั้งอยู่ในโซนมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนบน และทะเลจีนใต้ ร่วมกับสมาชิกประเทศอื่นๆ ได้แก่ กัมพูชา, จีน, เกาหลีเหนือ-ใต้, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, ลาว, มาเก๊า, มาเลเซีย ไมโครนีเซีย (รัฐอิสระอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือหมู่เกาะอินโดนีเซีย) ฟิลิปปินส์, สหรัฐฯ และเวียดนาม
ทั้งนี้ ชื่อพายุจะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 28 ชื่อ ชื่อพายุแต่ละชื่อ จะเรียงตามชื่อประเทศของลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ เริ่มจากกัมพูชา เรื่อยไปจนถึงเวียดนามซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย โดยไทยเราอยู่อันดับที่ 12 เมื่อใช้หมด 1 กลุ่มก็จะขึ้นชื่อแรกในกลุ่มที่ 2 เรียงกันเรื่อยไปจนครบทุกกลุ่ม แล้วจึงกลับมาใช้ชื่อแรกของกลุ่มที่ 1 ใหม่อีกครั้ง
ภาพจาก AFP
รายชื่อพายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ที่ตั้งโดยประเทศไทย
พระพิรุณ
กระท้อน
วิภา
บัวลอย
เมขลา
อัสนี
นิดา
ชบา
กุหลาบ
ขนุน
ภาพจาก ดาวเทียม himawari8.nict
รายชื่อพายุหมุนเขตร้อนของมหาสมุทรอินเดียเหนือ ที่ตั้งโดยประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป
ศรีตรัง (Sitrang)
มณฑา (Montha)
เทียนหยด (Thianyot)
บุหลัน (Bulan)
ภูตลา (Phutala)
ไอยรา (Aiyara)
สมิง (Saming)
ไกรสร (Kraison)
มัจฉา (Matcha)
มหิงสา (Mahingsa)
แพรวา (Phraewa)
อสุรี (Asuri)
ธารา (Thara)
ภาพจาก AFP
รายชื่อพายุหมุนเขตร้อนของมหาสมุทรอินเดียเหนือ ที่ตั้งโดยประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2563
มุกดา (Mukda)
ไข่มุก (Khai Muk)
เพชร (Phet)
ไพลิน (Phailin)
โกเมน (Komen)
โมรา (Mora)
เพทาย (Phethai)
อำพัน (Amphan)
ข้อมูลจาก
ภาพปก ไต้ฝุ่นนันมาดอล โดย @Astro_FarmerBob