“มวลน้ำเหนือ” มหาศาล มุ่งหน้า กทม. ลงอ่าวไทย
“ฝนตกหนักตลอดช่วงฤดูฝนปี 2565 ทำให้เกิดน้ำท่วมเกือบทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ จากนี้ไปปริมาณน้ำสะสมก้อนใหญ่กำลังไหลหลากลงมายังพื้นที่ภาคกลางผ่านแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เข้าสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่าน กทม.และปริมณฑล ลงสู่อ่าวไทย”
เส้นทางเดินน้ำ นอกจากจะมาจากพื้นที่ภาคเหนือผ่านเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทแล้ว ยังมีมวลน้ำก้อนใหญ่อีกเส้นทางหนึ่งนั่นก็คือ แม่น้ำป่าสัก จ.เลย และ จ.เพชรบูรณ์ ไหลผ่านเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ผ่านเขื่อนพระราม 6 จ.อยุธยา เข้ามารวมกันที่แม่น้ำเจ้าพระยาผ่าน จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี กทม. และ จ.สมุทรปราการลงสู่อ่าวไทย ซึ่งเส้นทางนี้ สร้างความหวั่นวิตกอย่างหนักว่า จะทำให้น้ำท่วม กทม.หรือไม่
TNN EARTH ตรวจสอบข้อมูลมวลน้ำล่าสุดจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศเตือนเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักเพิ่มขึ้นสูงสุด 1 เมตร ซึ่งเป็นผลจากการปล่อยน้ำเพิ่มของเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ปล่อยน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมที่อัตรา 400 ลบ.ม./วินาที เป็น 800 ลบ.ม./วินาที โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300-3,500 ลบ.ม./วินาที ส่วนน้ำเหนือจากเขื่อนเจ้าพระยามีการจัดการน้ำไหลผ่านเขื่อนอยู่ที่เกณฑ์ 2,700-2,800 ลบ.ม./วินาที ส่งผลทำให้ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณอ.เมือง จ.ชัยนาท และอ.เมือง จ.อุทัยธานี เพิ่มสูงขึ้น โดยปริมาณน้ำเหนือเหล่านี้จะไหลลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนจะไหลลงสู่อ่าวไทยต่อไป
ขณะที่ กรมอุทกศาสตร์ แจ้งระดับสภาวะน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณกองบุญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร ระบุว่า วันที่ 5-12 ต.ค.65 ระหว่างเวลาประมาณ 06.00-19.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย การระบายน้ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ มีความสูง ประมาณ 1.70-2.00 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก)