TNN "ความกดอากาศ" ตัวแปรสำคัญทำอากาศเปลี่ยน

TNN

Earth

"ความกดอากาศ" ตัวแปรสำคัญทำอากาศเปลี่ยน

ความกดอากาศ ตัวแปรสำคัญทำอากาศเปลี่ยน

บริเวณความกดอากาศต่ำมักจะเป็นบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ มีเมฆมาก หรือ อาจมีฝนตก ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงจะมีสภาพอากาศที่ค่อนข้างสงบ และท้องฟ้าปลอดโปร่ง

สำหรับอากาศนั้น ถึงแม้จะมีสถานะเป็นแก๊ส แต่อากาศก็มีน้ำหนัก เช่นเดียวกับของแข็งและของเหลว โดยเราเรียกน้ำหนักของอากาศที่กดทับกันลงมาเหนือบริเวณนั้นๆว่า “ความกดอากาศ” ปกติแล้วอากาศร้อนนั้นจะมีความหนาแน่นน้อยกว่าอากาศเย็น จึงมีความกดอากาศน้อยกว่า เรียกบริเวณนั้นว่า บริเวณความกดอากาศต่ำ หรือ Low-pressure area ในแผนที่อุตุนิยมวิทยานั้นจะใช้สัญลักษณ์เป็น ตัว L สีแดง ส่วนพื้นที่ไหนที่มีอากาศเย็น หรือความกดอากาศมากกว่า จะเรียกบริเวณนั้นว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือ High-pressure area ในแผนที่อุตุนิยมวิทยาจะใช้สัญลักษณ์เป็นตัว H สีน้ำเงิน ซึ่งบริเวณหย่อมความกดอากาศต่ำนั้น คือบริเวณที่มีปริมาณอากาศอยู่น้อย อากาศบริเวณนี้จะเบาและลอยตัวสูง เมื่อมวลอากาศลอยตัวสูงขึ้น ด้านบนจะเกิดเมฆขึ้น และท้องฟ้าบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำนั้นจะมีเมฆปกคลุม เมื่อเคลื่อนตัวไปยังพื้นที่ไหน บริเวณนั้นจะมีฝนเกิดขึ้น และถ้าพบหย่อมความกดอากาศต่ำในมหาสมุทร หากปัจจัยทั้งอุณหภูมิและความชื้นในมหาสมุทรนั้นอยู่ในระดับที่มากพอ ก็มีแนวโน้มที่หย่อมความกดอากาศต่ำนั้นจะทวีกำลังแรงขึ้น กลายเป็นพายุต่อไปได้ แตกต่างกับบริเวณที่มีความกดอากาศสูงปกคลุม อากาศเย็นนั้นหนัก และจะจมตัวลงสู่พื้นดิน เมื่ออากาศจมตัวลงสู่พื้นดิน จึงมีแรงกดของอากาศมาก บริเวณนั้นท้องฟ้าจะแจ่มใสและมีอากาศเย็นนั่นเอง

ข่าวแนะนำ