หมอธีระเปิดผลวิจัย "โอมิครอน" แพร่เร็วกว่าเดลตา 70 เท่า
“หมอธีระ” เผยผลวิจัยโควิดกลายพันธุ์ "โอมิครอน" แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา 70 เท่า เตือนอย่าประเมินความรุนแรงต่ำเกินไป
วันนี้ ( 20 ธ.ค. 64 )รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลกวานนี้ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 419,457 คน เสียชีวิตเพิ่ม 3,379 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อเมริกา รัสเซีย และอิตาลี
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.08 ของทั้งโลก ขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 97.01
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 67.09 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 63.15เมื่อวานนี้ จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
สำหรับสถานการณ์ไทยเรา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 2,899 คน สูงเป็นอันดับ 23 ของโลก หากรวมตรวจด้วย ATK อีก 946 คน ขยับเป็นอันดับ 18 ของโลก ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย
อัปเดตโควิด-19 กลายพันธุ์ "โอมิครอน" ล่าสุดไอร์แลนด์ เป็นประเทศที่โอมิครอน เป็นสายพันธุ์ที่ครองสัดส่วนมากกว่าสายพันธุ์อื่นแล้ว
เรื่องการประเมินความรุนแรงของโรคจากการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนนั้น ทีมงานจาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เผยแพร่ผลงานวิชาการออกมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นว่า การรีบด่วนแปลผลจากการข้อมูลช่วงแรกในแอฟริกาใต้ ที่พบคนติดเชื้อจำนวนมาก แต่ป่วยและเสียชีวิตน้อย อาจทำให้ประเมินความรุนแรงของสายพันธุ์โอมิครอนต่ำกว่าที่เป็นจริง และอาจคลาดเคลื่อนได้
เนื่องจากมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อปรากฏการณ์ที่เห็น เช่น อัตราของผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนในอดีต อัตราการฉีดวัคซีนในแต่ละพื้นที่ ศักยภาพของโอมิครอนที่ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำในคนที่เคยเป็นโควิดมาก่อนได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น
รวมถึงระยะเวลาที่เหลื่อมกันของการติดเชื้อ การป่วย และการเสียชีวิตในแต่ละกลุ่มผู้ป่วย ที่มีลักษณะพื้นฐานข้างต้นที่แตกต่างกัน เป็นต้นที่แน่ๆ ตอนนี้ข้อมูลจากการวิจัยชี้ให้เห็นชัดว่า "โอมิครอน" นั้นแพร่เร็ว ติดเชื้อแล้วแบ่งตัวในหลอดลมได้เร็วกว่าเดลต้าถึง 70 เท่า
ความเสี่ยงในการแพร่ในครัวเรือนมากกว่าเดลต้า 2.9 เท่า ติดเชื้อซ้ำได้มากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิม 2.4 เท่า มีการศึกษาในสหราชอาณาจักรโดย "อิมพีเรียล คอลเลจ" พบว่าความเสี่ยงมากกว่านี้ ดื้อต่อภูมิคุ้มกันกว่าสายพันธุ์เดิม 20-40 เท่า ดื้อต่อโมโนโคลนัล แอนติบอดี้หลายชนิดที่ใช้ในการรักษา
ดังนั้น หากไม่ป้องกันตัวให้เคร่งครัด โอกาสเกิดระบาดหนักในแต่ละประเทศย่อมมีสูง จำนวนการติดเชื้อที่มากขึ้นอย่างมาก จะทำให้จำนวนการป่วยและเสียชีวิต ก็อาจอยู่ในระดับที่สูงได้ ไม่ว่าสุดท้ายแล้วความรุนแรงจะลดลงบ้าง จากปัจจัยเชิงประชากรที่มีระดับภูมิคุ้มกันเดิมอยู่แล้ว ขอให้เราป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด เป็นกิจวัตร ใส่หน้ากากสองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตรเลี่ยงการตะลอนท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี
เลี่ยงการจัดปาร์ตี้สังสรรค์ คริสต์มาสและปีใหม่ ฉลองกับคนในบ้านจะปลอดภัยกว่า ด้วยรักและห่วงใย
ข้อมูลจาก : รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพจาก : AFP