TNN เปิดวิธีปฏิบัติหากสัตว์เลี้ยงต้องสงสัย ‘ติดโควิด-19’ ต้องทำอย่างไร

TNN

เกาะติด COVID-19

เปิดวิธีปฏิบัติหากสัตว์เลี้ยงต้องสงสัย ‘ติดโควิด-19’ ต้องทำอย่างไร

เปิดวิธีปฏิบัติหากสัตว์เลี้ยงต้องสงสัย ‘ติดโควิด-19’ ต้องทำอย่างไร

อธิบดีกรมปศุสัตว์แนะปชช.สังเกตอาการสัตว์เลี้ยงใกล้ชิด พร้อมแนะนำแนวทางปฏิบัติหากต้องสงสัยติดโควิด-19

วันนี้ ( 6 ธ.ค.64)นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่มีการเสนอข่าวออนไลน์ล่าสุด วันที่ 5 ธันวาคม 2564 ว่าได้กักตัว 2 ฮิปโปในสวนสัตว์เบลเยียมที่ติดโควิด-19 ครั้งแรกของโลก โดยเร่งสอบสวนหาที่มาของเชื้อว่ามาจากไหน โดยรายละเอียดรายงานว่า นายฟรานซิส แวร์คัมเมน สัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์ แอนท์เวิร์บในเบลเยียม เผยว่า ฮิปโปโปเตมัส 2 ตัว คือ อิมานิ อายุ 14 ปี และ เฮอร์มีน อายุ 41 ปี พบผลบวกจากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จึงได้ทำการแยกฮิปโปโปเตมัส ทั้ง 2 ตัว ไว้เพื่อเป็นการป้องกัน

 โดยฮิปโปโปเตมัสทั้งสองตัวไม่ได้แสดงอาการป่วยมากมายแต่อย่างใด เพียงแค่มีอาการน้ำมูกไหลออกมามากเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่ของทางสวนสัตว์ได้เร่งสอบสวนโรคเพิ่มเติม ถึงสาเหตุและที่มาของการติดเชื้อว่ามาจากที่ใด เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์ทั้งหมดไม่มีผู้ใดพบผลบวกจากการตรวจหาเชื้อโควิด-19  และกรณีนี้เป็นรายงานการติดเชื้อในสัตว์สปีชีส์นี้เป็นครั้งแรก ซึ่งก่อนหน้ามีรายงานการติดเชื้อจำกัดเฉพาะในสัตว์ตระกูลลิงใหญ่ และตระกูลแมวเท่านั้น

โคโรน่าไวรัสหรือ เชื้อโควิด-19  เป็นเชื้อไวรัสตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่ง บางชนิดทำให้เกิดโรคคล้ายหวัดในคน บางชนิดทำให้เกิดการเจ็บป่วยในสัตว์ เช่น วัว ควาย อูฐ และค้างคาว นอกจากนี้บางชนิด เช่น โคโรนาไวรัสที่พบในสุนัขและแมว สามารถพบการแพร่ระบาดในสัตว์เท่านั้นและไม่แพร่ระบาดไปยังคน ซึ่ง ณ ตอนนี้ สัตว์เลี้ยง เช่น แมวและสุนัข แมวใหญ่ในสวนสัตว์หรือเขตรักษาพันธุ์ กอริลล่าในสวนสัตว์ มิงค์ในฟาร์ม และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ สามารถติดเชื้อ SARS-CoV-2 ได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลทั้งหมดว่ามีสัตว์ชนิดอื่นที่สามารถติดเชื้อได้อีกไหม ในขณะนี้มีรายงานสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสทั่วโลก สัตว์เหล่านี้ส่วนใหญ่ติดเชื้อหลังจากสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ เชื้อโควิด-19 

เปิดวิธีปฏิบัติหากสัตว์เลี้ยงต้องสงสัย ‘ติดโควิด-19’ ต้องทำอย่างไร

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) มีการแถลงเกี่ยวกับการเฝ้าระวังกวางหางขาวสำหรับ SARS-CoV-2 กล่าวว่าการวิจัยทางวิทยาศาตร์เมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นถึงความชุกภายในประชากรกวางหางขาวในอเมริกาเหนือ และนี่เป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบไวรัสในระดับประชากรในสัตว์ป่า โดยกวางเหล่านี้ไม่แสดงอาการทางคลีนิคของการติดเชื้อ และการค้นพบดังกล่าวอาจทำให้สันนิษฐานได้ว่ากวางหางขาวนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นแหล่งรังโรคของ SARS-CoV-2 หรือไม่ จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติ่มและประเมินถึงผลกระทบอื่นๆ ที่อาจตามมาได้ ถึงแม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดที่แสดงถึงการแพร่กระจายของ SARS-CoV-2 แต่การแพร่กระจายเชื้อจากมนุษย์เข้าไปสู่ประชากรกวางหางขาวนั้นเกิดขึ้นหลายครั้ง 

ดังนั้น จึงควรมีการสร้างความตระหนักให้กับนักล่าและผู้ที่อาศัยหรือทำงานกับสัตว์ป่า เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิสัมพันธ์ที่ไม่จำเป็นกับสัตว์ป่าและหลีกเลี่ยงการทิ้งขยะหรือวัตถุของมนุษย์ไว้ในพื้นที่ป่าที่สัตว์ป่าสามารถเข้าถึงได้ แม้จะมีการแพร่กระจายของ SARS-CoV-2 ในประชากรกวางหางขาว แต่ไวรัสก็ไม่ปรากฏว่ามีการกลายพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความร่วมมือกับ OIE ในการรายงานเหตุการณ์การติดเชื้อ SARS-CoV-2 ในประเทศ โดยประเทศไทยได้ทำการรายงานการติดเชื้อว่ามีการติดเชื้อในสุนัขและแมว โดยทุกเคสที่รายงานนั้นพบการติดเชื้อจากเจ้าของติดเชื้อเชื้อโควิด-19  ทั้งสิ้น 

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีโครงการการเฝ้าระวังการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ในสัตว์เลี้ยงที่มีอาการเสี่ยง เช่น มีการแสดงอาการทางระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น หรือสัตว์เลี้ยงที่มาจากต่างประเทศพร้อมกับเจ้าของ โดยการตรวจวิเคราะห์เพื่อเฝ้าระวังดังกล่าว ทำการตรวจหาเชื้อโดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน จากผลการตรวจวิเคราะห์ทุกตัวอย่างให้ผลเป็นลบ

ท้ายนี้ เนื่องด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเริ่มเข้าสู่อากาศหนาวแล้ว สัตว์อาจมีภูมิคุ้มกันลดลงได้ กรมปศุสัตว์ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ให้ดูแลสัตว์ของตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และป้องกันสัตว์ของตนเองไม่ให้สัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะนำเชื้อโรคเข้าสถานที่เลี้ยงสัตว์ และหมั่นสังเกตอาการของสัตว์อย่างสม่ำเสมอ หากพบสัตว์แสดงอาการน่าสงสัย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารงานส่วนตำบลในพื้นที่ หรือโทรแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่เบอร์โทร 063-225-6888 หรือผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรสามารถป้องกันและควบคุมโรคได้ทันที อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด

ข้อมูลจาก :  AFP

ภาพจาก :    กลุ่มกลุ่มระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์

ข่าวแนะนำ