TNN เจรจาซื้อ “ยาโมลนูพิราเวียร์” ช่วยประเทศยากจน 300 บาท/คอร์ส

TNN

เกาะติด COVID-19

เจรจาซื้อ “ยาโมลนูพิราเวียร์” ช่วยประเทศยากจน 300 บาท/คอร์ส

เจรจาซื้อ “ยาโมลนูพิราเวียร์” ช่วยประเทศยากจน 300 บาท/คอร์ส

องค์การอนามัยโลกเผยกำลังเจรจา "เมอร์ค" ซื้อยาโมลนูพิราเวียร์เพียง 300 บาท/คอร์ส ช่วยเหลือประเทศยากจน

 วันนี้ (19 ต.ค. 64) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างร่างเอกสารฉบับหนึ่งระบุว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) มีโครงการที่จะช่วยให้ประเทศยากจนสามารถเข้าถึงวัคซีนและยาต้านโควิด-19 โดย WHO จะจัดซื้อยาดังกล่าวในราคาเพียงคอร์สละ 10 ดอลลาร์ หรือราว 300 บาท

แม้ว่า WHO ไม่ได้ระบุโดยตรงถึงการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ แต่เอกสารดังกล่าวระบุว่า โครงการ Access to COVID-19 Tools Accelerator (ACT-A) มีแผนที่จะจัดซื้อ "ยาที่ใช้รับประทานตัวใหม่สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงถึงปานกลาง" รวมทั้งยาอื่นๆ ที่กำลังพัฒนาสำหรับการรักษาโรคโควิด-19 จำนวน 28 ล้านคอร์ส ในราคาคอร์สละ 10 ดอลลาร์

นอกจากนี้ โครงการ ACT-A ยังมีแผนซื้อยาอีก 4.3 ล้านคอร์สสำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง โดยจะซื้อยาในราคา 28 ดอลลาร์ต่อ 1 คอร์ส เป็นที่เข้าใจกันว่า ขณะนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาเพียงตัวเดียวที่มีความโดดเด่นในประสิทธิภาพจากการทดลองระยะที่ 3 สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 

โครงการ ACT-A กำลังเจรจากับบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ รวมทั้งเจรจากับผู้ผลิตยาสามัญแห่งอื่นๆเพื่อซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ในราคาคอร์สละ 10 ดอลลาร์ ซึ่งหากการเจรจาเป็นผลสำเร็จ จะทำให้ WHO สามารถซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ในราคาถูก เมื่อเทียบกับที่รัฐบาลสหรัฐได้สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากเมอร์คในราคาคอร์สละ 700 ดอลลาร์ หรือราว 24,000 บาท โดยรัฐบาลสหรัฐได้สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จำนวน 1.7 ล้านคอร์ส โดยใช้วงเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์ 

ทั้งนี้ ยา 1 คอร์สประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน

ก่อนหน้านี้ Harvard School of Public Health และ King's College Hospital ออกรายงานระบุว่า เมอร์คมีต้นทุนผลิตยาโมลนูพิราเวียร์เพียง 17.74 ดอลลาร์ต่อ 1 คอร์ส หรือราว 600 บาท และจะสามารถลดต้นทุนเหลือเพียง 7.7 ดอลลาร์ต่อ 1 คอร์ส หรือราว 260 บาท หากผลิตยาโดยใช้ประสิทธิภาพสูงสุด แต่เมอร์คได้คิดราคายาจากรัฐบาลสหรัฐสูงถึงคอร์สละ 700 ดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าต้นทุนถึง 40 เท่า

ขณะเดียวกัน โครงการ ACT-A มีเป้าหมายที่จะส่งมอบชุดตรวจโควิด-19 จำนวน 1 พันล้านชุดให้แก่ประเทศยากจน และจัดหายาต้านโควิด-19 เพื่อรักษาผู้ป่วยจำนวน 120 ล้านคนทั่วโลก ขณะที่มีการคาดการณ์ผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 200 ล้านคนในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

เอกสารระบุว่า โครงการ ACT-A มีแผนที่จะบรรลุข้อตกลงภายในสิ้นเดือนพ.ย.ในการ "จัดหายาชนิดรับประทานเพื่อรักษาโรคโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยนอก" โดยตั้งเป้าที่จะจัดส่งยาดังกล่าวให้ประเทศต่างๆในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565

 อย่างไรก็ดี โฆษกของโครงการ ACT-A กล่าวว่า เอกสารดังกล่าว ซึ่งลงวันที่ 13 ต.ค.ยังคงเป็นเอกสารร่าง และอยู่ระหว่างการปรึกษาหารือ ซึ่งโฆษกปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อเนื้อหาในเอกสารดังกล่าว ก่อนที่จะได้ข้อสรุป 

ทั้งนี้ โครงการ ACT-A จะส่งเอกสารฉบับนี้ให้แก่ผู้นำทั่วโลกก่อนการประชุมสุดยอด G20 ที่กรุงโรมในช่วงปลายเดือนนี้ และจะเรียกร้องให้ G20 เพิ่มเงินช่วยเหลืออีก 2.28 หมื่นล้านดอลลาร์จนถึงเดือนก.ย.2565 สำหรับการจัดหาวัคซีนและยาต้านโควิด-19 ให้แก่ประเทศยากจน หลังจากที่กลุ่มประเทศผู้บริจาคได้ให้คำมั่นก่อนหน้านี้ที่จะให้เงินช่วยเหลือแก่โครงการ ACT-A จำนวน 1.85 หมื่นล้านดอลลาร์

ข้อมูลจาก :  รอยเตอร์

ภาพจาก   :  AFP

ข่าวแนะนำ