สธ.แจงยะลาติดโควิดสูง แต่ไม่ใช่คลัสเตอร์ใหญ่ เร่งควบคุมโรค
กระทรวงสาธารณสุข แจงสถานการณ์โควิด 19 จ.ยะลา พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 738 ราย แต่ไม่ใช่การระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ยังเป็นการติดเชื้อในบ้านและชุมชน เดินหน้าสร้างความตระหนักเรื่องมาตรการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา ตรวจ ATK 10% ทุกสัปดาห์ และเร่งรณรงค์ให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมโดยเร็ว ลดการแพร่เชื้อในสถานที่เสี่ยง ทั้งโรงงาน ร้านอาหาร และตลาด
วันนี้ (2 ต.ค.64) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด 19 จ.ยะลา ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิดรักษาหาย 13,127 ราย สูงกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พบ 11,375 ราย และเสียชีวิต 87 ราย สำหรับ จ.ยะลา ที่พบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของประเทศ คือ 738 รายนั้น
ได้รับรายงานจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลาว่า การติดเชื้อในพื้นที่ยังเป็นลักษณะเดิม คือ การติดเชื้อในบ้านและชุมชน ไม่ได้มีการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มคน เช่น งานแต่งงาน งานเลี้ยงในชุมชน เป็นต้น สำหรับโรงพยาบาลได้เตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ จ.ยะลา มีอัตราเสียชีวิตร้อยละ 0.74 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
สำหรับแนวทางการลดผู้ติดเชื้อ จะเฝ้าระวังการเสียชีวิตของกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่องและคัดกรองการติดเชื้อในชุมชน รวมถึงย้ำมาตรการ DMHT ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงาน จะมีการตั้งศูนย์สู้ภัยโควิดในที่ทำงาน เช่น สำนักงาน โรงงาน สถานประกอบการ ร้านอาหาร และตลาด
โดยเน้นมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention) และการทำงานที่บ้าน (Work From Home) การตรวจพนักงานด้วยชุดตรวจ ATK ประมาณ 10% ทุกสัปดาห์ เพื่อเฝ้าระวังและแยกกักผู้ติดเชื้อโดยเร็ว ป้องกันไม่ให้สถานที่เสี่ยงเหล่านี้เป็นแหล่งแพร่เชื้อ ตัดวงจรการระบาด และป้องกันการนำเชื้อกลับไปแพร่ที่บ้าน
นอกจากนี้ จะเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งภาพรวม จ.ยะลา ฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 1 แล้ว 47% ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 60% โดย อ.เมืองยะลา และ อ.เบตง ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 70% แต่ยังต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และเข้มมาตรการร้านอาหารต้องฉีดวัคซีนพนักงานให้ครบ 2 เข็ม
โดยจะระดมสรรพกำลังทั้งฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และประชาชนในการสื่อสารทำความเข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีน ซึ่งมีประสิทธิผลในการลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต โดยการฉีดด้วยสูตรไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าห่างกัน 3 สัปดาห์ ที่กำลังใช้อยู่ในขณะนี้ คาดว่าจะช่วยให้ฉีดเข็ม 2 ได้ครอบคลุมเร็วขึ้น และในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ จะเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กนักเรียนอีกด้วย
ข้อมูลจาก สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ภาพจาก ผู้สื่อข่าว จ.ยะลา