TNN รถตู้-มินิบัส เรียกร้องคมนาคมเยียวยา หลังวิ่งรถไม่ได้ 2 ปี เพราะโควิดระบาด

TNN

เกาะติด COVID-19

รถตู้-มินิบัส เรียกร้องคมนาคมเยียวยา หลังวิ่งรถไม่ได้ 2 ปี เพราะโควิดระบาด

รถตู้-มินิบัส เรียกร้องคมนาคมเยียวยา หลังวิ่งรถไม่ได้ 2 ปี เพราะโควิดระบาด

ผู้ประกอบการรถตู้และรถมินิบัส ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องการเยียวยา 5 ข้อ หลังจากที่เคยยื่นเรื่องร้องเรียนไปตั้งแต่ปี 2563 แต่ไม่ได้รับการเยียวยาแต่อย่างใด

ภาพจากทีมข่าว TNN ช่อง 16

วันนี้ (22 ก.ย.64) สมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด สมาพันธ์รถตู้แห่งประเทศไทย และสมาคมรถสาธารณะกรุงเทพและปริมณฑล พร้อมผู้ประกอบการ และสมาชิก นำรถตู้-รถมินิบัสหลายสิบคัน ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องการเยียวยา

สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้ต่างจังหวัดมีจำนวน 5 ข้อ ได้แก่

1.ขอให้เยียวยาเรื่องของการพักหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ยของสถาบันการเงินและไฟแนนซ์

2.ขอขยายอายุรถจาก 10 ปี ออกไปเป็น 15 ปี และขอให้เยียวยาเรื่องการปรับค่าผิดสัญญาการเช่าซื้อ

3.ขอให้รัฐบาลช่วยจัดหางบประมาณเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือปลอดดอกเบี้ย เพื่อนำมาปรับปรุงสภาพรถให้พร้อมใช้งาน

4.ติดตามเรื่องเงินเยียวยาที่กรมการขนส่งขอชดเชยรถสาธารณะ เดือนละ 5,000 บาทต่อคัน เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงิน 15,000 บาทต่อคัน ที่ได้มีการเรียกร้องไปตั้งแต่การระบาดของโควิดรอบแรกในปี 2563 ซึ่งยังไม่ได้อนุมัติจากคณะกรรมการขนส่งกลาง

5.เรื่องของการปฎิรูประบบการขนส่งโดยสารสาธารณะ

นายกสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการมีข้อเรียกร้องหลักๆ อยู่ 3 ข้อคือขอให้รัฐเยียวยาเรื่องของการพักหนี้ของสถาบันการเงินและไฟแนนซ์ 2.คือขอขยายอายุรถจาก 10 ปี ออกไปเป็น 15 ปี เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถวิ่งรถได้ในช่วงของการระบาด และ 3.คือการเยียวยาที่ได้มีการเรียกร้องไปตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด

สำหรับปัญหาอื่นๆ ของผู้ประกอบการที่นอกเหนือจากค่างวดรถนั้น ได้แก่ ค่าบำรุงรักษาสัญญาณจีพีเอส ที่ยังคงต้องรับผิดชอบในจุดนี้ แม้ว่าจะไม่สามารถออกมาวิ่งรับผู้โดยสารได้ในช่วงของการระบาดที่ผ่านมาก็ตาม ซึ่งผู้ประกอบการต้องเสียค่าใช้จ่ายรายปี ไม่ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อปี ค่าตรวจสภาพรถต่อภาษีรายปี ซึ่งในช่วงของการระบาดที่ผ่านมาโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม กรมขนส่งของจังหวัดนั้นๆ ได้มีการงดเว้นการตรวจสภาพเพื่อหลีกเลี่ยงการระบาด แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ผู้ประกอบการได้มีการนำรถเข้าไปเสียภาษี แต่ยังกลับถูกเรียกค่าปรับเป็นเงินถึง 1,000 บาท ซึ่งผู้ประกอบการถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในจุดดังกล่าว

ข่าวแนะนำ