วิจัยใหม่! พบค้างคาวในลาวมีเชื้อไวรัสใกล้เคียงกับโควิด-19 ในมนุษย์
นักไวรัสวิทยา เผยผลวิจัยต่างชาติ สำรวจถ้ำค้างคาวในลาว พบไวรัสโควิดในค้างคาว 3 สายพันธุ์ หนึ่งในนั้นใกล้เคียงกับที่พบในคนมาก ชี้การค้นพบครั้งนี้ทำให้ลบความคิดเชื้อนี้อาจไม่ใช่คนสร้าง แต่เป็นการเกิดในค้างคาวที่กำลังพร้อมจะกลายพันธุ์ไปตลอด และพร้อมที่จะติดต่อสู่คนได้
วันนี้ (19 ก.ย.64) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความถึงการค้นหาต้นตอหรือบรรพบุรุษของไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน พบว่า เชื้อไวรัสโคโรนาที่ใกล้เคียงกับ SARS-CoV-2 ที่สุด คือไวรัส “RaTG13” ในค้างคาวมงกุฎเทาแดง จากถ้ำในยูนนาน ประเทศจีนซึ่งพบเมื่อปี 2013
แต่ไวรัสสายพันธุ์นี้แม้จะมีความใกล้เคียงกับ SARS-CoV-2 มาก แต่ตำแหน่งของโปรตีนหนามที่ใช้จับกับโปรตีนตัวรับ ACE2 ของมนุษย์ ยังทำได้ไม่ดีเท่ากับไวรัสโควิด19
ล่าสุด ได้มีการเผยแพร่งานวิจัยของทีมวิจัยจากสถาบันปาสเตอร์และมหาวิทยาลัยลาว ซึ่งได้ทำการศึกษาตัวอย่างเชื้อไวรัสโคโรนาในค้างคาวที่มีถิ่นที่อยู่ทางตอนเหนือของ สปป.ลาว ใกล้กับประเทศไทย ในช่วงปี 2020 โดยจับค้างคาวมาทั้งหมด 645 ตัว จาก 46 สายพันธุ์ เก็บตัวอย่างเลือด 275 ตัวอย่าง น้ำลาย 608 ตัวอย่าง อุจจาระ 539 ตัวอย่าง และปัสสาวะ 157 ตัวอย่าง
ทำให้สามารถพบไวรัสโคโรนาในค้างคาวได้ 3 สายพันธุ์ หนึ่งในนั้นมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ ชื่อว่า BANAL-20-52 และ -236 ซึ่งเป็นไวรัสที่มีความใกล้เคียงกับ SARS-CoV-2 ในมนุษย์มาก ถ้าดูตลอดทั้งสายพันธุกรรมอาจจะใกล้เคียงกับ SARS-Co-2 น้อยกว่า RaTG13 แต่ถ้าโฟกัสไปที่ตำแหน่งสไปค์ที่ไวรัสใช้จับกับโปรตีนตัวรับของมนุษย์ พบว่า BANAL-20-236 เหมือนกับ SARS-CoV-2 มากกว่า RaTG13 มากๆ
มีเพียงแค่ 2 ตำแหน่งกลายพันธุ์ที่ต่างจาก SARS-CoV-2 เท่านั้นคือ 493 กับ 498 เท่านั้น และแน่นอนว่า BANAL-20-52 และ -236 สามารถติดเข้าเซลล์มนุษย์ได้เหมือนกับ SARS-CoV-2
การค้นพบไวรัสในค้างคาวนี้บอกได้ว่า ไวรัสในธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงเหมือนที่คิดไว้จริงๆ SARS-CoV-2 ที่คิดว่ามาจากมนุษย์สร้างขึ้นอาจจะไม่น่าจะใช่ และไวรัสในค้างคาวในแถบประเทศเพื่อนบ้าน หรือในประเทศไทยเอง ก็กำลังบ่มเพาะการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ พร้อมกระโดดเข้าสู่ประชากรมนุษย์ได้ทุกเมื่อ...เราจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมกับการอุบัติใหม่ของไวรัสจากสัตว์สู่คนไว้ตลอด
ข้อมูลและภาพจาก Anan Jongkaewwattana