สธ.เผย “ภูเก็ต แซนด์ บ็อกซ์” นทท.ติดเชื้อ 85 ราย อาการไม่รุนแรง
สธ.เผยนักท่องเที่ยว "ภูเก็ต แซนด์ บ็อกซ์" พบติดเชื้อ 85 คน คิดเป็นร้อยละ 0.3 เท่านั้น และไม่มีคนที่ป่วยหนักเพราะทุกคนได้วัคซีนครบ
วันนี้ ( 4 ก.ย. 64 )นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึง ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่ลดการป่วยหลักและเสียชีวิต โดยยกกรณีตัวอย่างโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการมารวม 2 เดือน มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 27,216 ตรวจโควิดพบผู้ติดเชื้อ 85 คน คิดเป็นร้อยละ 0.31 ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ 61 ราย และอาการน้อย 22 ราย
สำหรับผู้ที่ติดเชื้อ 77 รายได้รับการฉีดวัคซีน ส่วนอีก 6 รายเป็นเด็กต่ำกว่า 18 ปี ยังไม่ได้รับวัคซีน และพบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีน โควิดชิว มีอัตราการติดเชื้อสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 12.90 จากจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนทั้งหมด รองลงมาคือวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าร้อยละ 1.10 ส่วนวัคซีนที่มีอัตราติดเชื้อต่ำสุดคือ โมเดอร์น่า ร้อยละ 0.08 ทำให้เห็นว่ามาตรการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่กำหนดไว้มีประสืทธิภาพ ลดความเสี่ยง ส่งเสริมให้ดำเนินกิจกรรมฟื้นฟูการท่องเที่ยวได้
ส่วนการศักยภาพการรักษาพยาบาล จ.ภูเก็ตยังทีขีดความสามารถดูแลผู้ติดเชื้อได้ สถานการณ์เตียงในปัจจุบัน มีเตียงทั้งหมด 2118 เตียง ใช้ไป 1508 เตียง คิดเป็นร้อยละ 71.20 คงเหลือเตียงว่าง 610 เตียงคิดเป็นร้อยละ 28.80 โดยเตียงยังว่างในผู้ป่วยทุกระดับสี ทั้งสีแดง สีเหลืองและสีเขียวยังสามารถรับนักท่องเที่ยวได้
ทั้งการที่ภูเก็ตยังดำเนินการภูเก็ตแซนบ็อกซ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งมากจากคนในพื้นที่ฉีดวัคซีนสูง ครอบคลุมเข็มที่ 1 มากกว่า ร้อยละ 86 และครอบคลุมเข็มที่ 2 ร้อยละ 76 ขณะที่ในผู้สูงอายุ ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้วกว่าร้อยละ 93 และเมื่อดูตัวเลขผู้เสียชีวิตในพื้นที่พบว่า มีผู้เสียชีวิตรวม 12 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และในจำนวนนี้ 11 รายยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ส่วนอีก 1 รายได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ 1 เข็ม
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำว่า วัคซีนทุกชนิดสามารถลดป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ขออย่าด้อยค่า หรือกลัวการฉีดวัคซีน วัคซีนในประเทศไทยทุกชนิดมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
อย่างไรก็ตามวัคซีนทุกชนิดเมื่อเจอกับสายพันธุ์เดลตาทำให้ประสิทธิภาพลดลง ทางกระทรวงสาธารณสุดและผู้เชี่ยวชาญจึงพยายามหาวิธีปรับสูตรฉีดไขว้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและทั่วโลกก็เริ่มฉีดสูตรไขว้และเอกสารรับรองทางวิชาการตามมา ซึ่งวงการสาธารณสุขไทยไม่เคยหยุดนิ่งในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน