กรมการแพทย์ กางข้อมูลบริหารเตียงเริ่มดีขึ้น หลัง Home Isolation
กรมการแพทย์ เผย สถานการณ์เตียงรักษาผู้ป่วยโควิดเริ่มดีขึ้น แต่เตียงไอซียูรักษาผู้ป่วยสีแดงยังคงตึง ต้องบริหารจัดการวันต่อวัน ขณะที่ระยะเวลาการรอคอยเตียงรักษาผู้ป่วยโควิดลดลง หลังจากมีแนวทางแยกกับตัวรักษาที่บ้านและศูนย์พักคอย ส่วนจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รักษาหาย กลับบ้าน ที่มีรายงานอยู่ทุกวัน ยืนยันเป็นผู้ป่วยติดเชื้อที่รักษาหายครบถ้วนตามระยะเวลา
วันนี้ (26 ส.ค.64) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ระบุถึงการบริหารจัดการเตียงโควิดในช่วงนี้ว่า สถานการณ์การดูแลผู้ติดเชื้อขณะนี้ จำนวนผู้ที่หายป่วยมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ ขณะที่สถานการณ์เตียงทั่วประเทศตอนนี้ในต่างจังหวัดเริ่มตึง ซึ่งการบริหารจัดการเตียง ทางแต่ละจังหวัดจะเป็นผู้ดูแล โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป ที่ได้มีการทำงานร่วมกันในการขยายเตียงไปยังโรงพยาบาลชุมชน ทำให้การบริหารจัดการเตียงพื้นที่ต่างจังหวัด ถือว่าบริหารจัดการได้ดี และไม่ค่อยมีปัญหา
ส่วนในกรุงเทพมหาคร เริ่มมีเตียงว่างเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการทำระบบแยกกับตัวรักษาที่บ้าน และศูนย์พักคอย
ข้อมูลจาก สปสช. ในกรุงเทพฯ มีผู้ป่วย ที่ยินยอมเข้าสู่บริการแยกกักตัวรักษาที่บ้าน (Home Isolation) สะสม 87,023 ราย ในวันนี้เพิ่มเข้าสู่ระบบ 1,440 ราย ในจำนวนผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบ มีการจับคู่กับคลินิก/ศูนย์บริการสาธารณสุข ให้กับผู้ป่วยตามที่อยู่ของผู้ป่วยนั้นไม่ค่อยมีปัญหา โดยจำนวนผู้ป่วยที่อยู่ในระบบแยกกับตัวรักษาที่บ้านจะเพิ่มขึ้นทุกวัน
อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า สถานการณ์ติดเชื้อโควิดในกรุงเทพมหานคร ยังพบผู้ป่วยใหม่ประมาณวันละ 4,000 ราย มีผู้ป่วยยินยอมแยกกักรักษาตัวที่บ้าน ประมาณวันละพันกว่าราย
ส่วนความคืบหน้าการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อในศูนย์พักคอยพื้นที่กรุงเทพมหานคร เปิดดำเนินการแล้ว 64 แห่ง จำนวน 8,694 เตียง อัตราครองเตียงอยู่ที่ 3,410 ราย คงเหลือ 5,284 เตียง โดยมีผู้ป่วยสะสม 15,749 ราย วันนี้รับผู้ป่วยรายใหม่เข้าศูนย์พักคอย 251 ราย ในจำนวนที่รักษาในยังศูนย์พักคอยมีการจำหน่ายออกในแต่ละส่วน คือ กลับบ้าน 292 ราย ส่งต่อไปยังสถานพยาบาลอื่นหรือ Hospitel อีก 89 ราย
ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยรอคอยเตียงที่บ้านลดลง โดยรอคอยเกิน 24 ชั่วโมงไม่มากนัก โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มสีแดงที่พบว่า การรอคอยเตียงรักษาลดลง หลังจากมีการรักษาในระบบแยกกักตัวที่บ้านและศูนย์พักคอย
ทั้งนี้ ข้อเสียของการรักษาตัวที่บ้าน คือ คนติดเชื้อที่อยู่ที่บ้าน ถ้าเป็นเหมือนต่างประเทศที่ให้ไปอยู่บ้านแล้วไม่มีการติดตามดูแล ข้อมูลจากต่างประเทศ พบว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตที่บ้าน ข้อที่ 2 คือจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้ติดเชื้อที่รักษาที่บ้านจะไม่แพร่เชื้อสู่คนอื่น ซึ่งข้อกังวลใน 2 ส่วนนี้ ต้องขอขอบคุณ สปสช.ที่จัดการในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวที่บ้าน การสนับสนุนอุปกรณ์ ทางการแพทย์ให้กับผู้ติดเชื้อ ค่าอาหารและอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ยังคงมีผู้ป่วยร้องเรียนถึงปัญหาในการแยกตัวรักษาที่บ้าน เช่น อาหาร หรือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ได้ไม่ครบ จากปัญหาดังกล่าวได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการประเมินในแนวทางแยกจากรักษาตัวที่บ้านว่าผู้ติดเชื้อมีการดูแลตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ จะมีการประเมินจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ซึ่งเป็นส่วนที่จะพยายามดูในเรื่องของคุณภาพ การดูแลผู้ติดเชื้อ จะนำร่องการประเมิน ใน 3 โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ คือ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสินโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ที่จะทำการนำร่องประเมินการรักษาและจะประเมินให้ครบทุกเครือข่ายว่าการให้บริการเป็นอย่างไร
สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อกลุ่มเปราะบาง เช่นผู้พิการทางกาย ผู้พิการทางจิต หรือ เด็ก ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการรักษาดูแล หากพิการทางจิตจะมีโรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา หากเป็นผู้พิการก็จะมีโรงพยาบาลสนามเพื่อคนพิการที่โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการและสถาบันราชานุกูล
โดยการรักษาระบบ HI แยกกักตัวรักษามีที่ สถาบันสิรินธร เพื่อคนพิการ ระบบ CI หรือศูนย์พักคอยที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ โรงพยาบาลรามาธิบดี สนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ รวมถึงศูนย์พักคอยสำหรับเด็กอายุ 7-15 ปี ที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยที่เกียกกาย โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีที่ดำเนินการร่วมกับเขตดุสิต
สำหรับยอดผู้ติดเชื้อที่รักษาหายป่วยในจำนวน 2 หมื่นกว่ารายที่ผ่านมา เป็นผู้ป่วยติดเชื้อรักษาหายจริงแล้วหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ ระบุว่า ในตัวเลขที่ระบุในแต่ละวัน คือ ยอดคนไข้ที่หายแล้วครบถ้วนจากการรักษา 14 วัน ทั้งที่รักษาตัวที่สถานพยาบาล รพ.สนาม Hospitel ถึงจะจำหน่ายผู้ป่วยออก แต่หากเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง สีแดง อาจจะมีระยะการรักษาที่นานกว่า 14 วัน เช่น 30-60 วัน ยืนยันยอดผู้ป่วยติดเชื้อที่ระบุในทุกวันคือยอดผู้ป่วยที่รักษาหายตามกระบวนการแล้ว
ส่วนสถานการณ์ผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเหลืองตอนนี้ ถือว่าดีขึ้นเยอะ ส่วนผู้ป่วยสีแดงยังคงต้องประเมินสถานการณ์ หากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯยังคงอยู่ที่ระดับพันรายขึ้นไปสถานการณ์เตียง ICU ในกลุ่มนี้ยังคงไม่พอ การบริหารเตียง ICU ตอนนี้บริหารจัดการค่อนข้างยาก ต้องบริหารวันต่อวัน ส่วนจำนวนที่รอคอยเกิน 24 ชั่วโมงดีขึ้น
ส่วนผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองปัญหาลดลงเยอะ แต่กลับพบปัญหาอีกด้านมีประชาชนที่อยู่ในระบบรักษาแยกกักตัวที่บ้านจากสีเขียวบางคน อาจจะมีอาการเข้าสู่ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองอ่อนได้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำหากเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองออกซิเจนในกระแสเลือดเริ่มลดลงให้เข้ามารักษายัง Hospitel เนื่องจากมี เครื่องออกซิเจน อุปกรณ์พร้อม
แต่พบว่า มีผู้ติดเชื้อบางส่วนขอรักษาตัวที่บ้านต่อ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า อยากขอให้ผู้ป่วยหากอาการเริ่มเปลี่ยนระดับสี ขอให้มารักษาต่อตามสถานที่ที่เจ้าหน้าที่แนะนำเพื่อให้อาการดีขึ้น
ส่วนผู้ป่วยในกลุ่มสีแดง มีบางส่วนที่ปฏิเสธในการเข้ารับการรักษายังสถานพยาบาล เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อติดบ้านติดเตียง ส่วนใหญ่เป็นคนไข้อายุมากแล้วมีโรคร่วม อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ในกลุ่มนี้ จะมีสมาคมดูแลระยะท้ายเข้าไปช่วยดูแลซึ่งมีผู้ติดเชื้อบางคนขอไม่ไปโรงพยาบาล และบางส่วนมีความประสงค์ที่จะไปรักษาต่อที่บ้านและอยากอยู่กับครอบครัว