TNN เปิดตัวเลขผู้ป่วยโควิดที่ "รพ.บุษราคัม" เหลือเตียงว่างเท่าไหร่?

TNN

เกาะติด COVID-19

เปิดตัวเลขผู้ป่วยโควิดที่ "รพ.บุษราคัม" เหลือเตียงว่างเท่าไหร่?

เปิดตัวเลขผู้ป่วยโควิดที่ รพ.บุษราคัม เหลือเตียงว่างเท่าไหร่?

สธ. เผยสถานการณ์ที่ "โรงพยาบาลบุษราคัม" ตอนนี้ดูแลผู้ป่วยกว่า 3,000 คน ในจำนวนนี้ 500 คนใส่เครื่องออกซิเจน และอีกว่า 170 ใส่เครื่องช่วยหายใจ

วันนี้( 21 ก.ค.64) นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่ได้รับมอบผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม ระบุว่า ตั้งแต่มีการเปิดรพ.บุษราคัมมาได้ประมาณ 2 เดือน 

มียอดสะสมการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ 10,395 คนในจำนวนนี้รักษาหายกลับบ้านแล้ว 6,955 คน เหลือรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลบุษราคัม 3,300 คน สถานการณ์เตียงตอนนี้ยังเหลือว่างประมาณ 300  - 400 เตียง 

ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจากเดิมที่โรงพยาบาลบุษราคัมถูกวางไว้รักษาผู้ป่วยอาการปานกลาง แต่ตอนนี้ได้รับดูแลผู้ป่วยอาการหนักที่อยู่ในกลุ่มสีแดงด้วย โดยมีคนไข้ใส่เครื่องออกซิเจนอยู่ประมาณ 500 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 170 คนต่อวัน ในจำนวนนี้จำเป็นต้องใส่ท่อหายใจ 6-9 คนต่อวัน

โรงพยาบาลบุษราคัม ถือว่า มีผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องออกซิเจน ไฮโฟลว์มากที่สุดในประเทศไทย รักษาดูแลผู้ติดเชื้อทุกประเภท คนไข้ที่มีอาการน้อย อาการปานกลาง ตามกลไกของโรคมีโอกาสที่จะอาการหนักขึ้นเรื่อยๆได้ ซึ่งจะถูกพัฒนาเป็นคนไข้กลุ่มสีแดงที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเครื่องไฮโฟลว์ ซึ่งยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม ที่มีการระบาดของเชื้อสูง ส่งผลต่อภาระงาน เจ้าหน้าที่ที่ทำการรักษาและดูแลที่ต้องควบเวรในการดูแลผู้ติดเชื้อมากขึ้น แต่ยังคงยืนยันเพื่อเป็นการช่วยกรุงเทพฯหลังจากมีผู้ติดเชื้อสูงและมีปัญหาการรอเตียง โดยโรงพยาบาลบุษราคัมจะรับผู้ป่วยทุกประเภทเพื่อเข้ามายังรักษา 

สำหรับอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ภายในรพ.บุษราคัม ตอนนี้อยู่ประมาณ 300 คน เป็นแพทย์ 50-60 คน นอกนั้นเป็นเจ้าพยาบาล เภสัชกร นักรังสีวิทยาและเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นๆ รวมถึงได้ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้มาช่วยงานในเรื่องด้านเอกสารด้วย เช่น เจ้าหน้าที่พยาบาล 210 คน จะแบ่งเป็น 3 ผลัด  ผลัดละ 70 คน ดูแลผู้ป่วยทั้งหมด 3,500 คน โดยจะมีการนำพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในผลัดนั้นมาช่วยเสริม ดูแลผู้ติดเชื้อ ซึ่งทำให้มีการควบเวรเสริม ไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาลบุษราคัมเท่านั้น แต่สถานการณ์ตอนนี้บุคลากรทางด้านสาธารณสุขทั่วประเทศ ได้ทำงานเกินเวลา ควบเวร เกือบทั้งหมด 

สำหรับปัญหาในเรื่องของบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ที่จะหมุนเวียนมาดูแลผู้ติดเชื้อยังโรงพยาบาลบุษราคัม ยอมรับว่าเริ่มมีปัญหาโดย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในส่วนภูมิภาคที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือไปยังส่วนภูมิภาค ขออาสาสมัครบุคลากรทางด้านสาธารณสุขมาช่วยงานดูแลผู้ป่วย รวมถึงได้เปิดรับอาสาสมัครที่เคยเป็นผู้ติดเชื้อและได้รับการรักษาหายครบ14 วัน ที่โรงพยาบาลบุษราคัม ให้มาช่วยดูแลผู้ป่วยช่วยเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลต่อ โดยจะเป็นการว่าจ้างมีค่าตอบแทนให้

ส่วนค่าตอบแทนของบุคลกรทางแพทย์ยังโรงพยาบาลบุษราคัมที่มีเสียงสะท้อนออกมานั้น  นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม ระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นว่าการเบิกจ่ายค่าตอบแทนต่างๆเป็นไปตามระเบียบราชการ โดยโรงพยาบาลบุษราคัม ถือเป็นโรงพยาบาลลูกข่ายของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ระเบียบการเบิกจำเป็นต้องยึดตามโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า อย่างค่าตอบแทนเสี่ยงภัย เป็นเงินจัดสรรพิเศษผ่านทางครม.ไม่ได้เป็นเงินจากโรงพยาบาล ซึ่งจะมีการจัดสรรเป็นงวดๆไม่ใช่เป็นแบบเดือนต่อเดือน พร้อมยอมรับว่า บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินค่าเสี่ยงภัย แต่ยืนยันว่าจะได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยแน่นอน ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้ทำความเข้าใจไปหลายครั้งแล้ว

ซึ่งบุคลากรที่ เข้ามาประจำการยังโรงพยาบาลบุษราคัม มีการเบิกจ่ายจาก 2 ส่วน คือ ค่าตอบแทนจากโรงพยาบาลต้นสังกัดเดิมของตนเอง และส่วนที่ 2 คือ ค่าตอบแทนจากหน่วยของโรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งจะต้องทำเรื่องเบิกจ่ายจากโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าซึ่งเป็นโรงพยาบาลต้นสังกัด ส่วนที่มีข่าวกรณีการเบิกจ่ายค่าเดินทาง 8 บาท เชื่อว่าเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อน


ข่าวแนะนำ