TNN แห่ซื้อ "กระชาย" กินเสริมภูมิคุ้มกัน ดันราคาพุ่ง กิโลกรัมละเกือบ 200 บาท

TNN

เกาะติด COVID-19

แห่ซื้อ "กระชาย" กินเสริมภูมิคุ้มกัน ดันราคาพุ่ง กิโลกรัมละเกือบ 200 บาท

แห่ซื้อ กระชาย กินเสริมภูมิคุ้มกัน ดันราคาพุ่ง กิโลกรัมละเกือบ 200 บาท

รัฐบาลขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสมุนไพร พร้อมเตรียมส่งเสริมปลูกเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร ขณะที่กระแสความนิยมรับประทานสมุนไพร เช่น กระชาย และขิง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ราคากระชายปรับเพิ่มสูงไปเกือบเท่าตัว บางพื้นที่สูงถึงกิโลกกรัมละเกือบ200บาท

วันนี้ (17 ก.ค.64) หลังจากสมุนไพรไทย เช่น กระชาย และ ขิง ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นทางเลือกของประชาชนในการนำไปรับประทานเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกาย จากการระบาดของโควิด-19 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ตลาดเทศวิวัฒน์ 1 ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นตลาดอาหารสด และอาหารแห้ง พบว่า บรรยากาศช่วงเช้าวันนี้ค่อนข้างคึกคัก ประชาชนพากันมาหาซื้อสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านโควิด เช่น กระชายสด และขิงที่ช่วยแก้หวัดได้

พบว่า เป็นสมุนไพรที่ขายดีจนบางพื้นที่ขาดตลาด และทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว พ่อค้าแม่ค้าต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่าราคากระชายในตลาดปัตตานีตอนนี้ราคาพุ่งสูงขึ้น จากเดิมกิโลกรัมละ 60 บาท ขณะนี้เพิ่มไป 140 บาท โดยส่วนใหญ่นำไปปั่นและต้มดื่ม นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่กระชายสดที่ราคาขยับขึ้น แต่รวมไปถึงพืชสมุนไพรทุกชนิด ที่ขยับราคาตามไปด้วย ขณะที่ อีกหลายจังหวัดก็พบว่าราคากระชายปรับเพิ่มสูงขึ้นมากบางที่ราคากิโลกรัมละเกือบ 200 บาท

ส่วนที่ตลาดทรัพย์สินพลาซ่า เขตเทศบาลนครสงขลา พบว่ามีประชาชนมาหาซื้อกระชายจำนวนมาก ทำให้ราคากระชายพุ่งสูงขึ้นเท่าตัว จากเดิมกิโลกรัมละ 70 บาท เพิ่มมาเป็นกิโลกรัมละ 150 บาทและมีแนวโน้มจะปรับราคาขึ้นอีก ทำให้แม่ค้าต้องสั่งกระชายเข้ามาขายวันต่อวันเพราะราคายังไม่นิ่ง ซึ่งแม่ค้าบางรายสั่งมาขายวันละ 10 กิโลกรัม และขายหมดทุกวัน โดยจะสั่งผ่านแม่ค้าคนกลางมาจากกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ พบว่าส่วนใหญ่ประชาชนจะนำกระชายไปหั่นและใส่เครื่องปั่น เป็นน้ำกระชายเข้มข้น ใส่กับน้ำผึ้งและน้ำมะนาวรวมทั้งน้ำเปล่าเพื่อรับประทาน

ด้าน นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนาสมุนไพรไทย ว่า ขณะนี้สมุนไพรไทยเป็นพืชเศรษฐกิจและพืชสุขภาพที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมูลค่าการบริโภควัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 43,000 ล้านบาทในปี 2560 เป็น 52,000 ล้านบาทในปี 2562 การส่งออกสินค้าเครื่องเทศและสมุนไพรไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 93 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรไทย ให้มีศักยภาพตามความต้องการของตลาด มีการจัดทำแผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกจำนวน 24 ชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ขมิ้นชัน ไพล พริกไทย และ เพชรสังฆาต เป็นต้น

โดยรัฐบาลจะเดินหน้าส่งเสริมเกษตรกรทั่วประเทศ หันมาปลูกพืชสมุนไพรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกร อีกทั้งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมสมุนไพรเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่น สร้างรายได้เข้าประเทศด้วย



ข่าวแนะนำ