TNN ศบค.เคาะฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 "บูสเตอร์ โดส" ให้บุคลากรแพทย์ก่อน

TNN

เกาะติด COVID-19

ศบค.เคาะฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 "บูสเตอร์ โดส" ให้บุคลากรแพทย์ก่อน

ศบค.เคาะฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 บูสเตอร์ โดส ให้บุคลากรแพทย์ก่อน

ที่ปรึกษา ศบค.เผย เตรียมฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส เข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์กว่า 7 แสนคน ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มเป็นลำดับแรก เบื้องต้นจะพิจารณาใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อรองรับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า

วันนี้ (6 ก.ค.64) ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. ระบุ ถึงการพิจารณาวัคซีนบูสเตอร์โดสต่อเชื้อกลายพันธุ์ โดยเมื่อวานนี้ ทางคณะที่ปรึกษา ศบค.ที่ถูกตั้งขึ้น โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน ได้มีการประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยมองว่าการกลายพันธุ์ของเชื้อ ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงชัดเจน จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าการกลายพันธุ์ส่งผลต่อภูมิหลังรับวัคซีน ย้ำ ไม่ใช่วัคซีนไม่ดี แต่เชื้อมีการกลายพันธุ์ จึงจำเป็นที่จะต้องหาวัคซีนรุ่นการผลิตใหม่ เร็วสุดอาจได้วัคซีนในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ระหว่างที่รอวัคซีนที่จะมีประสิทธิภาพต่อเชื้อกลายพันธุ์ ทำให้ต้องหาแนวทาง บูสเตอร์โดส หรือ กระตุ้นภูมิ 

อย่างไฟเซอร์ 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันลดลงเมื่อเจอสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) 7.5 เท่า ต่อสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) 2.5 เท่า แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม เจอเบต้าลดลง 9 เท่า เดลต้าสร้างภูมิคุ้มกันลดลง 4.3 เท่า ข้อมูลในอังกฤษ ซิโนแวค อังกฤษไม่ได้ใช้ มีข้อมูลในไทย 2 เข็ม เจอเดลต้าภูมิลดลง 4.9 เท่า

นพ.อุดม ระบุว่า วัคซีนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดตอนนี้ คือ วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งจะมีภูมิต้านทานขึ้นระดับ 1,000-2,000 หรือสูงสุด คือหลักหมื่น รองลงมา คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ ภูมิจะขึ้นประมาณหลักพันต้นๆ ส่วนซิโนแวคภูมิขึ้นประมาณหลักร้อยปลาย โดยวัคซีนชนิด mRNA ดีที่สุด 

ส่วนการป้องกันโรค วัคซีนไฟเซอร์สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้า ลดลงจาก 93% เหลือ 88% แอสตร้าเซนเนก้า ป้องกันสายพันธุ์เดลต้า จาก 66% เหลือ 60% แต่ทั้งนี้สามารถช่วยป้องกันการอยู่โรงพยาบาล ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ โดยวัคซีนไฟเซอร์ป้องกันได้ถึง 96% ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าป้องกันได้ 92%  

ขณะที่ ซิโนแวค พบว่า อาจป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ไม่ดี แต่หากฉีดครบ 2 เข็ม จะป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง เข้าโรงพยาบาล หรือป้องกันเสียชีวิตได้มากกว่า 90% โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากหลายประเทศที่มีการใช้วัคซีนซิโนแวค

สำหรับในประเทศไทยกลุ่มที่ควรจะได้รับบูสเตอร์โดส คือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีมากกว่า 7 แสนคน โดยยังจะไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะรับบูสเตอร์โดส แต่จะพิจารณาจากกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุดก่อน นั่นคือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องทำงานใกล้ชิดผู้ป่วย และค่อยเป็นกลุ่มเสี่ยงถัดไป 

สำหรับการพิจารณาว่าจะเป็นวัคซีนชนิดไหน ในการรับบูสเตอร์โดส ต้องดูวัคซีนที่มีอยู่ ตัวเลือกขณะนี้ คือ แอสตร้าเซนเนก้าที่ไทยมี รวมถึงไฟเซอร์ที่จะได้มาจากการบริจาค 1.5 ล้านโดส แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะได้ช่วงเวลาไหน หากได้มาต้องให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มก่อน แต่หากไฟเซอร์ยังไม่มาก็ต้องฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ยืนยันว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพ  

อย่างไรก็ตาม วอนประชาชนอย่าคิดว่าวัคซีนซิโนแวคประสิทธิภาพด้อยกว่าวัคซีนชนิดอื่นแม้ภูมิคุ้มกันจะขึ้นน้อยหลังฉีด แต่ยังมีประสิทธิภาพลดป่วย ลดเสียชีวิตได้มากกว่า 90% 

ทั้งนี้ ขอประชาชนอย่าเพิ่งรีบจองวัคซีนชนิด mRNA เนื่องจากจะได้วัคซีนชนิด mRNA รุ่นเก่าอยู่ ที่ยังไม่รองรับต่อเชื้อกลายพันธุ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุกวัน และยังคงอยากให้ประชาชนรับวัคซีนที่มีอยู่ให้ครบได้ครบ

ข่าวแนะนำ