หมอคำนวณเผย ‘โควิดเดลตา’ ระบาดในกทม.40% แนะปรับแผนฉีดวัคซีน
หมอคำนวณเผย ‘โควิดเดลตา’ ระบาดในกทม.40% แนะปรับแผนฉีดวัคซีนแบบพุ่งเป้าปกป้องปชช.กลุ่มเสี่ยงลดยอดการเสียชีวิต
วันนี้ ( 2 ก.ค. 64 )นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญในด้านระบาดวิทยา ที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเสวนา "วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร"ว่า ในช่วง 3 เดือนจากนี้ (ก.ค.-ก.ย.) ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะมีการเปิดประเทศ หรือการระบาดของโรคจะหนักขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถเปิดประเทศได้ โดยขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสายพันธุ์เดลตาซึ่งมีความรุนแรง และแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิมที่เคยระบาดในไทยกว่า 1.4 เท่า ซึ่งจากการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นตรงกันว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า แนวโน้มผู้ติดเชื้อจะมีมากขึ้น
เนื่องจากปัจจุบันการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในกรุงเทพอยู่ที่ประมาณ 40% แล้ว ซึ่งในอีก 1-2 เดือนข้างหน้านี้สายพันธุ์เดลตาจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทยได้
"เดือนมิ.ย. ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากโควิดกว่า 900 ราย ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ จะส่งผลให้เดือนก.ค.จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 1,400 คน และเดือนส.ค. 2,000 ราย และพอถึงเดือนก.ย.จะมีผู้เสียชีวิตเป็น 2,800 ราย ซึ่งสถานการณ์สาธารณสุขที่มีผู้เสียชีวิต 900 รายเริ่มติดขัดและมีปัญหาเตียง หากผู้เสียชีวิตแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นตามคาดการณ์ดังกล่าว ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยจะไม่สามารถรองรับผู้ป่วยต่อไปได้" นพ.คำนวณ กล่าว
อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงมีทางออก เนื่องจาก 80% ของผู้ที่เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ซึ่งหากสามารถปกป้องประชาชนกลุ่มนี้ได้จะสามารถลดยอดผู้เสียชีวิตได้จำนวนมาก โดยจากการศึกษาพบว่าในกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดเชื้อ 100 ราย จะมีสัดส่วนการเสียชีวิต 10 ราย
เดิมประเทศไทยเคยวางยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนแบบปูพรม แต่หากประเทศไทยต้องการลดอัตราการเสียชีวิตยังสามารถเปลี่ยนยุทธศาสตร์ได้ คือใช้ยุทธศาสตร์แบบมุ่งเป้า เร่งฉีดให้ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงก่อน เพื่อลดอาการป่วย และลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้หากประเทศไทยยังใช้ยุทธศาสตร์เดิม จากการฉีดวัคซีนในเดือนที่ผ่านมาแล้วกว่า 10 ล้านโดส โดยในจำนวนนี้มีสัดส่วนของผู้สูงอายุเพียง 10% จึงอาจต้องใช้ระยะเวลากว่า 7-8 เดือนจึงจะสามารถป้องกันกลุ่มผู้สูงอายุได้ครบ โดยผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงมีจำนวนทั้งหมด 17.5 ล้านคน มีการฉีดวัคซีนแล้ว 2 ล้านคน ซึ่งอีก 15 ล้านคนที่เหลือควรจัดสรรฉีดวัคซีนให้ได้ภายใน 2 เดือนนี้ ทั้งนี้หากสามารถเดินตามยุทธศาสตร์นี้จำนวนผู้เสียชีวิตในเดือนส.ค. จะสามารถลดลงเหลือเดือนละ 800 ราย และคาดการว่าในเดือนก.ย. จะมีผู้เสียชีวิตเดือนละ 600-700 ราย ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตในระดับนี้อยู่ในวิสัยที่ทางสาธารณณสุขสามารถรองรับได้