"หมอมานพ" เผยฉีดแอสตร้าฯตามด้วยไฟเซอร์ ภูมิขึ้นเกือบเท่าฉีด “ไฟเซอร์” 2 เข็ม
“หมอมานพ" เผยการฉีดวัคซีนโควิดสลับยี่ห้อเริ่มมีวิจัยในต่างประเทศ พร้อมเผยข้อมูลฉีดแอสตร้าฯตามด้วยไฟเซอร์ ภูมิขึ้นเกือบเท่าฉีด “ไฟเซอร์” 2 เข็ม
วันนี้ ( 30 มิ.ย. 64 )ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า แนวคิดในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรกกับเข็มสองสลับยี่ห้อกันเพื่อให้กระตุ้นการสร้างแอนตี้บอดี้ให้ดีมากยิ่งขึ้นนั้น เริ่มมีงานวิจัยในต่างประเทศให้เห็นกันบ้างแล้ว ล่าสุดเป็นการวิจัยสลับยี่ห้อระหว่าง AstraZeneca (ChAd) กับ Pfizer vaccine (BNT) และคาดว่าจะมีงานวิจัยในทำนองนี้ออกมาเรื่อยๆ โดยเป็นการจับคู่วัคซีนหลายยี่ห้อที่มีใช้งานอยู่
"การสลับวัคซีนนั้นปกติจะใช้กับผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์ แพทย์จึงจะอนุญาตให้การฉีดเข็มสองเปลี่ยนยี่ห้อได้ แต่กรณีนี้เป็นการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ในการกระตุ้นให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้น" นพ.มานพ กล่าว
สำหรับในประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่มีความพร้อมที่จะนำวิธีสลับยี่ห้อมาใช้ เพราะวัคซีนที่มีใช้งานอยู่ในขณะนี้ยังไม่หลากหลาย และคิดว่าวัคซีนที่จะนำมาใช้กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องใช้วัคซีนที่มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอ"หากจะใช้งานจริงต้องมีงานวิจัยรองรับ ไปคิดเองว่าจะสลับใช้วัคซีนยี่ห้อนั้นกับยี่ห้อนี้แล้วจะได้ผลอย่างนั้นคงไม่ได้ ยกเว้นจะมีวัคซีนตรงกับที่มีงานวิจัยไว้แล้ว" ศ.นพ.มานพ กล่าว
ทั้งนี้ศ.นพ.มานพ ระบุในเฟซบุ๊กว่า ผลวิจัยสลับวัคซีนเข็มแรก-เข็มสองระหว่าง AstraZeneca (ChAd) กับ Pfizer vaccine (BNT) ของ Com-CoV study สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะ neutralizing antibody (NAb) โดยเป็นข้อมูลสนับสนุนชุดแรกๆ ไล่เลี่ยกับ CombiVacS ของสเปนที่มีผลสอดคล้องกัน
ผลตรวจ NAb ชุดแรกของอาสาสมัครที่ฉีดวัคซีน ChAd/ChAd, ChAd/BNT, BNT/ChAd และ BNT/BNT ห่างกัน 28 วัน จะเห็นชัดว่าหากเปรียบเทียบเฉพาะกลุ่มที่ฉีดวัคซีนสูตรปกติสองเข็มเหมือนกัน อาสาสมัครได้ที่ ChAd สองเข็มกระตุ้นภูมิได้ต่ำกว่า BNT สองเข็มอย่างชัดเจน
ขณะที่กลุ่มอาสาสมัครที่สลับชนิดวัคซีนมีระดับ NAb สูงกว่า ChAd สองเข็มสูตรปกติมาก แต่ยังต่ำกว่า BNT สองเข็มตามสูตรปกติ สรุปปัจจัยสำคัญของสูตรการฉีดวัคซีนว่าจะกระตุ้นการสร้าง NAb ได้มากแค่ไหน อยู่ที่ว่าเรามี Pfizer vaccine (BNT) อยู่ในสูตรหรือไม่
ศ.นพ.มานพ เปรียบเทียบระดับ NAb สำหรับการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อไว้ 4 รูปแบบ คือ
1.ฉีดวัคซีน Pfizer ทั้งสองเข็มจะสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีมาก
2.ฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มแรกแล้วตามด้วยวัคซีน Pfizer เข็มสอง จะสร่างภูมิคุ้มกันได้ใกล้เคียงกับฉีดวัคซีน
Pfizer ทั้งสองเข็ม
3.ฉีดวัคซีน Pfizer เข็มแรกแล้วตามด้วยวัคซีน AstraZeneca เข็มสอง จะสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับที่ตามมาแบบห่างๆ
4.ฉีดวัคซีน AstraZeneca ทั้งสองเข็ม จะสร้างภูมิคุ้มกันในระดับที่ห่างกันมาก
ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า มีข้อจำกัดที่ยังไม่รู้ คือ สาเหตุที่วัคซีน AstraZeneca vaccine (ChAd) กระตุ้นการสร้าง NAb ได้ต่ำกว่ามาก เป็นเพราะระยะห่างระหว่างการฉีดวัคซีนสองเข็มกระชั้นเกินไปหรือไม่ เรารู้จากข้อมูลการใช้จริงว่า VE ของ AstraZeneca vaccine จะดีขึ้นมากเมื่อฉีดห่างกัน 3 เดือน ขณะที่ข้อมูลการศึกษาชุดนี้อาสาสมัครฉีดห่างกัน 4 สัปดาห์ คงต้องรอข้อมูลอีกชุดที่คงจะตามมาสำหรับอาสาสมัคร 4 กลุ่มเหมือนเดิมแต่ฉีดสองเข็มห่างกัน 12 สัปดาห์อีกครั้ง
จากการวิจัยดังกล่าวจะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพในการกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีน่าจะมาจากการใช้วัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพดี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารควรจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจในการจัดหาวัคซีนเข้ามาใช้งานว่าควรเลือกซื้อยี่ห้อใดจึงจะคุ้มค่ามากที่สุด
ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 แล้ว 6 ราย ได้แก่ 1.วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และส่วนที่ผลิตในประเทศโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด 2.วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวก ไลฟ์ไซเอ็นซ์ จำกัด 3.วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น ซีแลค จำกัด 4.วัคซีนโมเดอร์นา นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด 5.วัคซีนของซิโนฟาร์ม นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และ 6.วัคซีนโคเมอร์เนตี (COMIRNATY VACCINE) ของบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด นำเข้าโดย บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย จำกัด
ขณะที่มีการนำวัคซีนมาใช้งานแล้ว 3 ยี่ห้อ คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนหลัก, วัคซีนซิโนแวกเป็นวัคซีนเสริม และวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นวัคซีนทางเลือกผ่านราชวัทยาลัยจุฬาภรณ์ ส่วนวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5 ล้านโดส และวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส มีกำหนดส่งมอบให้รัฐบาลภายในปีนี้ ขณะที่วัคซีนโมเดอร์นานั้นเป็นวัคซีนทางเลือกของภาคเอกชนผ่านองค์การเภสัชกรรม
ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศอังกฤษกำลังทดลองการสลับฉีดวัคซีนแต่ละยี่ห้อจากที่มีใช้งานอยู่ 7 ยี่ห้อ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งผลวิจัยที่ออกมาจะเป็นประโยชน์ที่จะนำมาปรับใช้งานต่อไป