เช็กที่นี่! สรุปมาตรการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด 6 จังหวัด
รัฐบาล เล็งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิดช่วง 1 เดือน 6 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม จ่ายชดเชยนายจ้าง 3,000 บาท/หัวลูกจ้าง ขณะที่ ลูกจ้างในระบบประกันสังคม จ่าย 50% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 7,500 บาท รัฐจ่ายเพิ่มอีกรายละ 2,000 บาท
วันนี้ (28 มิ.ย.64) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือ (ศบศ.) เพื่อหามาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ ภายหลังมีคำสั่งยกระดับมาตรการเป็นการชั่วคราว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดชายแดนใต้ รวม 10 จังหวัด
โดยที่ประชุม รับทราบรายงานจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภายหลังรัฐบาลประกาศยกระดับมาตรการฯ โดยประเมินว่าจะมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ 6 จังหวัด ได้แก่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ 4 จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งการพิจารณารูปแบบการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการในระบบประกันสังคม เป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 รวมถึงให้กองทุนประกันสังคมจ่ายค่าทดแทนกรณีเหตุสุดวิสัยร้อยละ 50 ในระยะเวลา 1 เดือน ขณะที่ผู้ประกอบการและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ แถลงภายหลังร่วมหารือกับทีมเศรษฐกิจว่า รัฐบาลเตรียมวงเงินราว 7.5 พันล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการออกมาตรการคุมเข้มสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จะต้องปิดกิจการหรืองดบริการบางประเภทในช่วง 1 เดือนนี้ เบื้องต้นจะครอบคลุมผู้ประกอบการและลูกจ้างใน 6 จังหวัด คือ กทม.และปริมณฑล ในภาคธุรกิจ เช่น ก่อสร้าง ที่พักแรม ร้านอาหาร ศิลปะ บันเทิง เป็นต้น โดยจะนำมาตรการดังกล่าวเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
สรุปมติที่ประชุม ศบศ. ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนด ฉบับที่ 25 ดังนี้
- งบประมาณที่จะนำมาใช้ช่วยเหลือครั้งนี้มีจำนวน 7,500 ล้านบาท โดยเป็นเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด 4,000 ล้านบาท และเงินประกันสังคม 3,500 ล้านบาท
- มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 ในช่วง 1 เดือนนี้ เป็นมาตรการพิเศษสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ส่วนอีก 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา มีมาตรการดูแลตามข้อกำหนดฉบับที่ 24 แล้ว
- มาตรการช่วยเหลือครอบคลุมในกลุ่มธุรกิจ ก่อสร้าง ที่พักแรม บริการอาหาร ศิลปะ บันเทิง และนันทนาการ ที่อยู่ในพื้นที่ที่ ศบค.สั่งควบคุมเป็นเวลา 1 เดือน
ลูกจ้างและผู้ประกอบการ ในระบบประกันสังคม
1. สำนักงานประกันสังคม จะจ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้างผู้ประกันตน 50% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 7,500 บาท ซึ่งจะสามารถจ่ายได้ทันที
2. รัฐบาลช่วยเหลือลูกจ้างเพิ่มอีก รายละ 2,000 บาท รอเข้าที่ประชุม ครม.เพื่ออนุมัติในวันพรุ่งนี้ (29 มิ.ย.)
3. นายจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม รัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้ 3,000 บาท/คน แต่ไม่เกิน 200 คน โดยจะจ่ายให้เป็นเวลา 1 เดือน
ลูกจ้างและผู้ประกอบการ นอกระบบประกันสังคม
1.กรณีที่ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ต้องการรับความช่วยเหลือ 3,000 บาท ขอให้รีบขึ้นทะเบียนเพื่อเข้าระบบประกันสงคม โดยจะอำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่ เพื่อรับเงิน 3000 บาทเช่นกัน
2.ลูกจ้างนอกระบบประกันสังคม(เฉพาะคนไทย) แล้วเมื่อนายจ้างขึ้นทะเบียนประกันสังคมจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท แต่กลุ่มนี้จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือกรณีสุดวิสัย 50% ของเงินเดือนจากประกันสังคม
มาตรการช่วยเหลืออื่นๆ
1. หาบเร่ แผงลอย ไม่มีลูกจ้าง ให้ขึ้นทะเบียนในแอปฯ "ถุงเงิน" ผ่านโครงการ "คนละครึ่ง"
2. การช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ได้ประสานกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านอาหารเข้ามาดำเนินการปรุงอาหารส่งให้กับคนงานในแคมป์ก่อสร้างที่ถูกปิด