แอฟริกาใต้ ทิ้งวัคซีน "จอห์นสัน&จอห์นสัน" 2 ล้านโดส
แอฟริกาใต้ ทิ้งวัคซีนต้านโควิด-19 ของ "จอห์นสัน&จอห์นสัน" 2 ล้านโดส หลัง FDA แจ้งเตือนพบการปนเปื้อนจากการผลิตที่โรงงานในบัลติมอร์ของสหรัฐฯ
วันนี้( 15 มิ.ย.64) สำนักงานควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานคุมกฎสินค้าด้านสุขภาพของแอฟริกาใต้ ประกาศว่า จะไม่ใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัท Janssen ในเครือบริษัท Johnson & Johnson ล็อตที่ไม่ผ่านมาตรฐานคุณภาพ
ด้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแอฟริกาใต้ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า มีวัคซีนของ Johnson & Johnson จำนวน 2 ล้านโดส จะต้องถูกทิ้งไปเนื่องจากการประกาศดังกล่าว วัคซีนทั้ง 2 ล้านโดสนั้นถูกเก็บรักษาอยู่ที่ห้องแล็บของบริษัท Aspen บริษัทเวชภัณฑ์ยารายใหญ่ที่สุดของแอฟริกาใต้
การตัดสินใจของสำนักงานควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพแอฟริกาใต้ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากได้ตรวจสอบทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนล็อตดังกล่าว ที่ได้รับแจ้งมาจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA โดยข้อมูลของ FDA ระบุว่า พบสารที่ใช้ในการผลิตวัคซีนของ Johnson & Johnson ล็อตที่ส่งให้แก่แอฟริกาใต้นั้น เป็นสารที่ไม่ผ่านมาตรฐานคุณภาพ
ก่อนหน้านี้ FDA ของสหรัฐฯ เพิ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมาให้บริษัท Johnson & Johnson ต้องทิ้งวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ผลิตจากโรงงานผลิตวัคซีนต้านโควิดในเมืองบัลติมอร์ของสหรัฐฯ ที่เป็นของบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชื่อ อีเมอร์เจนท์ (Emergent) ของสหรัฐฯ เนื่องจากเกิดการปนเปื้อนในระหว่างการผลิตวัคซีน แต่ FDA ไม่เปิดเผยจำนวนวัคซีนของ Johnson & Johnson ที่ต้องถูกทิ้งไป แต่สื่อในสหรัฐฯคาดว่าอาจมากถึง 10-60 ล้านโดส
ส่วนที่ญี่ปุ่น สถานีโทรทัศน์ NHK ของรัฐบาลญี่ปุ่น รายงานว่า ญี่ปุ่นต้องทิ้งวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัท Pfizer เกือบ 6,400 โดสไปในเมืองคาวาซากิใกล้กับกรุงโตเกียว เนื่องจากการเก็บรักษาไม่เหมาะสมโดยตู้เย็นที่ใช้เก็บรักษาวัคซีนของ Pfizer เกิดเสียทำให้อุณหภูมิของตู้เย็นร้อนขึ้น จากปกติที่อยู่ระหว่างติดลบ 80 ถึงลบ 60 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ต้องใช้ในการเก็บรักษาวัคซีนของ Pfizer แต่เมื่อตู้เย็นเกิดขัดข้อง ทำให้อุณหภูมิของตู้เย็นพุ่งขึ้นสูงสุดถึงระดับ 8-9 องศาเซลเซียสในช่วงวันที่่ 11-12 มิถุนายน แต่ไม่มีใครรู้จนถึงวันอาทิตย์ทำให้ต้องทิ้งวัคซีนของ Pfizer
ที่อยู่ในตู้เย็นดังกล่าวไป 6,396 โดส
ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเริ่มจากบุคลากรการแพทย์เป็นกลุ่มแรก และเพิ่งเริ่มฉีดให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา