ผู้เชี่ยวชาญตอบให้ ‘โควิด-19’ ติดเชื้อผ่านการกินอาหาร-น้ำแข็งได้หรือไม่
ผู้เชี่ยวชาญตอบข้อสงสัย ‘โควิด-19’ สามารถติดเชื้อผ่านการกินอาหาร-น้ำแข็งได้หรือไม่
วันนี้ ( 6 มิ.ย. 64 )จากกรณี ที่มีข่าวการติดเชื้อโควิด19ในคลัสเตอร์โรงงานน้ำแข็งหลายแห่งจนมี คำเตือนให้งดกินน้ำแข็งโดยตรง หรือใส่เครื่องดื่ม เพราะ เชื้อปนเปื้อนไวรัสโควิด19 ชอบความเย็นอยู่ได้นาน2-3วัน ล่าสุด ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค เผยข้อมูลจาก ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC ที่แสดงไว้ชัดว่า ความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโรคโควิดจากอาหารที่เจือปนเชื้อ รวมไปถึงน้ำดื่ม อยู่ในระดับต่ำมาก (Very low) เพราะหากรับประทานลงกระเพาะอาหาร เชื้อไวรัสจะถูกทำลาย ไม่มีผลเหมือนเชื้อแบคทีเรีย ที่เจริญเติบโตได้ แต่การติดเชื้อโควิด19 น่าจะมีความเสี่ยงจากมือที่ไปสัมผัสน้ำแข็งที่มีเชื้อแล้วไปโดนตาหรือจมูกมากกว่า
เช่นเดียวกับ นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เคยระบุไว้ว่า โรคโควิด-19 ไม่ติดต่อทางการกินอาหาร เหมือนกับ โรคติดต่อทางการกินอาหาร หรือการดื่มน้ำ เช่นโรคไวรัสตับอักเสบ A, โรคท้องร่วงจากโนโรและโรตาไวรัส
ทั้งนี้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อหลักๆ ทางการหายใจ โดยหายใจเอาหยดละออง (droplet) เมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในระยะ 1-2 เมตร และหายใจละอองฝอย (aerosol) ลอยออกมาจากผู้ติดเชื้อ แพร่กระจายผ่านอากาศ (airborne) ไกลกว่า 2-10 เมตร ติดเชื้อได้โดยไม่ต้องเจอหน้ากัน ซึ่งมีงานวิจัยทางต่างเทศได้ทำการศึกษามาแล้ว
โดยการแพร่กระจายของไวรัสส่วนใหญ่เกิดภายในอาคารและสถานที่ปิด ที่พบกลางแจ้ง (open air) น้อยมาก และมีตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 มีชีวิตได้ในอากาศนานถึง 3 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไส้กรองอากาศและท่ออากาศภายในโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยโควิด-19 นอนอยู่ ละอองฝอยเท่านั้นสามารถลอยขึ้นไปได้ ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกยอมรับแล้วว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายได้ทางอากาศ
ดังนั้น คลัสเตอร์ โรงงานต่างๆ รวมถึงเรือนจำ ที่อยู่อย่างแออัดและไม่มีการระบายอากาศที่ดีพอ จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เชื้อโควิด19ได้ง่าย ส่วนอาหารแช่แข็ง อาหารสด อาหารญี่ปุ่น เครื่องดื่มน้ำแข็ง รับประทานได้เหมือนเดิม แต่กระบวนการผลิตต้องสะอาดปลอดภัยได้มาตรฐาน จะปลอดภัยจากทุกเชื้อโรค