TNN "เอสเอ็มอี"อ่วมเจ๊ง 2 หมื่นราย "เซ่นพิษโควิด"

TNN

เกาะติด COVID-19

"เอสเอ็มอี"อ่วมเจ๊ง 2 หมื่นราย "เซ่นพิษโควิด"

เอสเอ็มอีอ่วมเจ๊ง 2 หมื่นราย เซ่นพิษโควิด

"วีระพงศ์"เผยเอสเอ็มอีอ่วมถูกพิษโควิดเล่นงานกระอักยื้อต่อไม่ไหวเจ๊ง 2 หมื่นราย สสว.เตรียมคลอดโครงการช่วยเหลือดันยอดขาย-ลดค่าใช้จ่าย

 นายวีระพงศ์ มาลัย  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า   ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) เอสเอ็มอีช่วงไตรมาส 1(ม.ค.-มี.ค.) ของปีนี้มีโอกาสติดลบถึง 4.8% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบ 2-2.4% เนื่องจากผลกระทบจากโรคโควิด-19 รอบ 3 กระทบต่อรายได้ ภาระหนี้ ทำให้ยากต่อการฟื้นตัวของกิจการที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจากโควิด-19 รอบ 1 และ 2 โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการบริโภคที่ชะลอตัวลง


ทั้งนี้ในไตรมาสแรกที่ผ่านมาปิดกิจการไปแล้ว 20,000 ราย สะท้อนจากตัวเลขเลิกจ้างงานที่ขอชดเชยจากประกันสังคม สูง 200-300% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเทียบความรุนแรงพบว่ายังไม่เท่ากับช่วงที่เกิดการระบาดในรอบ 1 และ 2 เพราะช่วงนั้นมีการล็อกดาวน์พื้นที่ 



ส่วนตัวเลขเปิดกิจการใหม่เพิ่มขึ้น 23,000 ราย เมื่อเทียบจากช่วงเดียวปีก่อนอยู่ที่ 20,000  เนื่องจากแรงงานที่ถูกเลิกจ้างงานหันทำธุรกิจใหม่ อาทิ การค้าขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และบางธุรกิจปรับตัวหันมาขายสินค้าออนไลน์ ทำให้รายได้เติบโตเพิ่มขึ้นเท่าตัว ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกจาก ธุรกิจเอสเอ็มอีส่งออกที่ยังฟื้นตัวได้ เพราะตลาดต่างประเทศที่กลับมาดีขึ้น เช่น สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น

 

ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอียังเดินหน้าต่อไปได้ สสว.จึงอยู่ระหว่างจัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้านยอดขายและลดค่าใช้จ่าย อาทิ โครงการเอสเอ็มอีคนละครึ่ง และการดึงเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบจัดซื้อจ้างภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย 1 แสนราย จากปัจจุบันเข้าสู่ระบบแล้ว 3 หมื่นรายปัจจุบัน โดยขณะนี้ สสว.มีข้อจำกัดงบประมาณปี 2565  ในการอช่วยเหลือเอสเอ็มอี เนื่องจากสสว.ถูก ตัดงบประมาณถึง 30% จากงบที่ขอไปทั้งหมด 1,000 ล้านบาท


น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานกิตติมศักดิ์สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า จากการสอบถามเอสเอ็มอีในหลายจังหวัด มีมากกว่าครึ่งที่ปิดกิจการแล้ว เพราะแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหวและขาดรายได้ ขณะเดียวกันเอสเอ็มอียังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อภาครัฐได้ ทำให้หลายธุรกิจต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบ ขณะนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่จึงกำลังรอเงินกู้ซอฟต์โลนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับเกณฑ์ใหม่ โดยคาดหวังจะได้รับเงินกู้โดยเร็วมากกว่าได้ดอกเบี้ยต่ำ

ข่าวแนะนำ