เตือน!ศก.ญี่ปุ่นทรุดหนัก หากโควิดระบาดจากโอลิมปิก
นักเศรษฐศาสตร์ออกมาเตือนญี่ปุ่น เศรษฐกิจเสียหายมหาศาล หากเกิดการติดเชื้อโควิดรอบใหม่จากการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
วันนี้ ( 26 พ.ค. 64 )ญี่ปุ่น ยังคงประสบปัญหาล่าช้าในการแจกจ่ายและฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ขณะที่เหลือเวลาอีกไม่กี่สัปดาห์ก่อนกำหนดการเปิดการแข่งขันกีฬา โตเกียว โอลิมปิกส์ 2020 ซึ่งจนถึงขณะนี้ มีผู้ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วประมาณ 1.9% เท่านั้น
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้ชาวอเมริกันงดเดินทางไปยังญี่ปุ่น โดยบอกว่า ขณะนี้ ญี่ปุ่นอยู่ภายใต้คำแนะนำ “ห้ามเดินทางระดับ 4” (Level 4-Do Not Travel) หลายพื้นที่ในญี่ปุ่นอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และการรณรงค์ฉีดวัคซีนของญี่ปุ่นก็ไม่ได้ช่วยอะไร ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูง และเกือบครึ่งหนึ่งของ 47 จังหวัดในญี่ปุ่น อยู่ภายใต้มาตรการฉุกเฉิน การฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างเร่งด่วน กลายเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก
ประชาชน กล่าวว่า เพราะการแข่งขันโอลิมปิกส์ คิดว่าเราจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโดยเร็วและป้องกันการระบาดของไวรัส
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นตามหลังประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ ในการฉีดวัคซีน โดยการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุเพิ่งเริ่มต้นไปในช่วงปลายเดือนเมษายน และยังไม่มีป้าหมายสำหรับประชาชนทั่วไปด้วย
ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นเตือนว่า ญี่ปุ่นอาจสูญเงิน 1.8 ล้านล้านเยน หรือราว 500,000 ล้านบาท หากกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนกรุงโตเกียวถูกยกเลิก ซึ่งยังถือเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น หากการแข่งขันโอลิมปิกในเดือนกรกฎาคมนี้กลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิดรอบใหม่
นายทาคาฮิเดะ คิยูชิ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยโนมูระ และอดีตคณะกรรมการบริหารของธนาคารแห่งชาติของญี่ปุ่น กล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศครั้งแรกของญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 6.4 ล้านล้านเยน ยังไม่รวมการประกาศภาวะฉุกเฉินและการล็อกดาวน์รอบสองและรอบสามที่กำลังใช้อยู่ในขณะนี้
นายคิยูชิ เตือนว่า หากการแข่งขันโอลิมปิกกรุงโตเกียวทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่ซึ่งนำไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉินอีกครั้ง ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะมีมูลค่ามหาศาล เมื่อเทียบกับการยกเลิกการแข่งขัน ซึ่งจะมีมูลค่าความสูญเสียราว 0.3% ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว
นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้สรุปว่า การคำนวณตัวเลขดังกล่าวคือการส่งสัญญาณไปถึงผู้มีอำนาจว่า การตัดสินใจว่าจะเดินหน้าจัดการแข่งขันต่อไปหรือไม่นั้นควรขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดรอบใหม่ มากกว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ
ที่ผ่านมา ผู้จัดการแข่งขันโอลิมปิกกรุงโตเกียวยืนยันหนักแน่นว่าจะเดินหน้าจัดการแข่งขันต่อไปในเดือนกรกฎาคม หลังจากเลื่อนมาแล้วหนึ่งปีเต็ม โดยจะมีการใช้มาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด รวมทั้งห้ามนักกีฬาชาติต่าง ๆ ปะปนกับประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจความคิดเห็นหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต่อต้านการจัดการแข่งขันโอลิมปิกกรุงโตเกียวในช่วงเวลาที่กำลังเกิดการระบาดอยู่ในปัจจุบัน