นักวิจัยพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ข้ามจากสุนัขไปติดมนุษย์ (มีคลิป)
นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มักพบในสุนัข แต่กลับทำให้มนุษย์ติดเชื้อได้ ในมาเลเซีย
วันนี้ ( 21 พ.ค. 64 )ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ CCov-HuPn-2018 เป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์พบการติดเชื้อในสุนัข แต่ล่าสุด วารสารทางการแพทย์ด้านโรคติดต่อ Clinical Infectious Diseases พบว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์นี้ข้ามไปติดเชื้อในมนุษย์ได้ หลังพบผู้ป่วยโรคปอดบวมอย่างน้อย 1 คนในรัฐซาราวักของมาเลเซีย ติดเชื้อเมื่อปี 2018 ถือเป็นไวรัสโคโรนาในสุนัข (Canine Coronavirus) สายพันธุ์แรกที่ติดเชื้อได้ในมนุษย์
การค้นพบครั้งแรกที่น่าวิตก
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดยุกและมาเลเซีย กำลังดำเนินโครงการวิจัยสาเหตุโรคปอดบวมในรัฐซาราวัก และตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาในสุนัขสายพันธุ์นี้โดยบังเอิญ
“เราไม่เคยพบ ไวรัสโคโรนาในสุนัขที่ข้ามไปติดในมนุษย์ได้มาก่อน” หนึ่งในทีมวิจัย ระบุในวารสาร ทีมวิจัยพบผู้ป่วยด้วยไวรัสโคโรนาในสุนัขนี้ ในกลุ่มคนพื้นเมืองรัฐซาราวัก ที่มักอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท ที่น่าตกใจ คือ นักวิจัยพบว่า ไวรัสโคโรนาในสุนัขที่ข้ามไปติดเชื้อในมนุษย์นั้น เริ่มแสดงสัญญาณว่า ไวรัสกำลังปรับตัวสำหรับการระบาดในมนุษย์ ในลักษณะการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของไวรัสที่คล้ายกับ SARS-CoV และ SARS-CoV-2
ตัวอย่างจากค้างคาว คงไม่เพียงพออีกต่อไป
ทีมวิจัยยังนำเสนอวิธีการตรวจหาไวรัสแบบใหม่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเหมือนโควิด-19
ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะเก็บตัวอย่างไวรัสโคโรนาที่พบในค้างคาวตามถ้ำให้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจัยไวรัสโคโรนากำลังทำอยู่ในตอนนี้ แต่ทีมวิจัยเสนอว่า ควรลงไปสำรวจพื้นที่ที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์สูงมากกว่า เพราะมีความเป็นไปได้ที่ไวรัสที่มีต้นตออยู่ในสัตว์ อาจข้ามไประบาดในประชากรมนุษย์แล้วก็เป็นได้
ถ้าหากไวรัสโคโรนาในสุนัข ข้ามไปติดมนุษย์ในวงกว้าง นั่นหมายความว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ CCov-HuPn-2018 จะถือเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่ 8 ที่มนุษย์ติดเชื้อได้ ตามหลังไวรัสโคโรนาที่ก่อให้เกิดไข้หวัด อาการในระบบทางเดินหายใจรุนแรง รวมถึงโควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญในปัจจุบัน
ชนิดของไวรัสโคโรนา
ไวรัสโคโรนาในทางการแพทย์แบ่งได้เป็น 4 ประเภท
- อัลฟ่าโคโรนาไวรัส (alphacoronavirus) จะพบการติดเชื้อในแมวและสุนัข
- เบตาโคโรนาไวรัส (betacoronavirys) พบการติดเชื้อในมนุษย์ อาทิ SARS-CoV และ SARS-CoV-2
- แกมมาโคโรนาไวรัส (gammacoronavirus) จะพบในสัตว์ปีก
- เดลตาโคโรนาไวรัส (deltacoronavirus) พบในนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางประเภท อาทิ สุกร เป็นต้น
“เราควรจะเริ่มวิตกหรือเปล่า”
ทีมวิจัยยอมรับว่า ไวรัสโคโรนาในสุนัขนี้ อาจเกิดขึ้นบนโลกมานานแล้ว แค่ยังไม่ทำให้มนุษย์จนผิดสังเกตได้เท่านั้น ยังดีที่ทีมวิจัยนี้ได้แยกตัวไวรัสที่ข้ามไปติดเชื้อในมนุษย์ออกมาแล้ว
“แต่นี่เป็นจุดที่เราควรจะเริ่มวิตกหรือเปล่า” ทีมวิจัยยอมรับ เพราะการสังเกตการณ์ด้านโรคระบาดในพื้นที่ชนบทยังมีไม่เพียงพอ และการวิจัยไวรัสโคโรนาในสุนัขยังมีข้อจำกัด อีกทั้ง ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า อาการของโรคปอดบวมที่พบนั้น เป็นผลจากไวรัสโคโรนาชนิดนี้หรือไม่
ดังนั้น “เพื่อลดความเสี่ยงที่ไวรัสเหล่านี้จะปรับตัวไปติดเชื้อในมนุษย์ และวิวัฒนาการจนเกิดการระบาดจากมนุษย์สู่มนุษย์ได้ เราจำเป็นต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์การตรวจหาไวรัสเสียใหม่” เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดร้ายแรงเหมือนกับโควิด-19 ในอนาคต