ส่อง "รพ.บุษราคัม" รับผู้ป่วยโควิดสีเหลืองอาการน้อย-ปานกลาง ดูแลทั้งกายและใจ
ทีมข่าว TNN ช่อง 16 พาทัวร์ "รพ.บุษราคัม" ในอาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยโควิดสีเหลืองอาการน้อย-ปานกลาง ได้ถึง 1,092 เตียง มีเจ้าหน้าที่หมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่ รวม 780 คน เน้นดูแลผู้ป่วยทั้งกายและใจ
"เราไม่ถือว่า เป็นโรงพยาบาลสนาม ที่นี้ คือ โรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งมีแพทย์ พยาบาล ปฏิบัติหน้าที่ โดย 1 เวร จะมีเจ้าหน้าที่กว่า 100 คน ที่จะนั่งทำงาน ค่อยดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ รวมถึงทำหน้าที่ในการ สื่อสารผ่านไลน์ไปหาผู้ป่วยด้านใน ส่วนคนที่ไม่สามารถใช้ไลน์ได้ จะมีการตั้งเป็นลักษณะหมู่บ้าน เพื่อนช่วยเพื่อน ที่จะช่วยสื่อสารกลับมาที่ทีม แพทย์ พยาบาล" พญ. ปฐมพร ศิรประภาศิริ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าว
หัวใจหลักของโรงพยาบาลบุษราคัม
ภายในห้องปฏิบัติการ หรือ ศูนย์บัญชาการของโรงพยาบาลที่ถูกวางระบบอิเล็กทรอนิกส์ และมีการมอนิเตอร์การรับส่งตัวผู้ป่วยติดเชื้อผ่านหน้าจอ โดยใช้ระบบ โค-ลิ้งค์ ระบบกลางในการบริหารจัดการเตียงโควิด
พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ อธิบายว่า ในการวางระบบรับผู้ป่วยกลุ่มแรก เจ้าหน้าที่จะได้รับรายชื่อผ่านระบบโค-ลิ้งค์ ซึ่งมาจากการประสานของศูนย์บริหารจัดการเตียง กรมการแพทย์ 1668 หรือจากโรงพยาบาลต่างๆ ในเขตนนทบุรี ปทุมธานี หรือจาก Call Center ต่างๆ รวมถึงการรับผู้ป่วยอาการหนักที่มีอาการดีขึ้น จากโรงเรียนแพทย์
" ข้อมูลก็จะถูกป้อนเข้ามายังระบบกลาง เจ้าหน้าที่จะบริหารจัดการคนไข้ โทรประสานคนไข้ ในกรณีที่คนไข้รอเตียง อยู่ที่บ้าน เจ้าหน้าที่จะโทรประสาน คำแนะนำต่างๆ เพื่อเข้าสู่รพ. โดยจะมีทีม สพฉ.จะทำหน้าที่ในการประสานรับคนไข้ ระหว่างรับคนไข้ ทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการในเรื่องของเอกสาร ทำบัตรประจำตัวคนไข้ จัดเตียงคนไข้ไว้รอ เมื่อข้อมูลทุกอย่างเสร็จ ก็จะถูกส่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์"
พอคนไข้มาถึง จะได้รับเอกสาร ที่เรียกว่า ใบยินยอม ทำการถ่ายรูป คัดกรองสุขภาพเบื้องต้น ซึ่งคนไข้ต้องเตรียมบัตรประชาชนติดตัวมาด้วย โดยเจ้าหน้าที่จะกรอกข้อมูลส่วนตัวเข้าสู่ระบบของโรงพยาบาล
การประสานรับส่งก็เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมด รวมถึงระบบทุกอย่าง ระบบการจัดยาให้คนไข้ เมื่อสั่งยาผ่านระบบ ทางเภสัชกร ก็จะเห็นผ่านทางจอคอมพิวเตอร์ส่งยากลับไปให้คนไข้ในระบบ
ด้านในจะแบ่งผู้ป่วยตามโซน ตามเพศ ตามลักษณะอาการ
-โซนA 270 เตียง กลุ่มที่ต้องการออกซิเจน เป็นโซนที่สะดวกที่สุดในการนำส่งคนไข้ไปยังโรงพยาบาล(ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีอาการปานกลาง โดยมีเตียงที่มีเครื่องออกซิเจน ซึ่งจะเป็นโซนที่รถสามารถขับเข้ามาได้หากต้องนำส่งผู้ป่วยไปรักษายังรพ.ด้านนอก
-โซนB 242 เตียง เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ใกล้หอปฏิบัติการ โซนนี้จะเป็นผู้ชายอยู่ (ไกลจากห้องน้ำหน่อย)
-โซนC 290 เตียง จะเป็นโซนที่ใกล้ห้องน้ำ เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ
-โซนD 290 เตียง จะเป็นโซนที่ผู้หญิงอยู่
ผู้ป่วยที่มาที่นี้ จะต้องเป็นผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ใช่ผู้ป่วยติดเตียง ไม่ใช่ผู้ป่วยที่พิการ
กลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง คือ ผู้ป่วยที่มีอาการ เช่น ไข้ ไอน้ำมูก ท้องเสียบ้าง และมีโรคประจำตัวอยู่ รวมถึงโรคประจำตัวที่ควบคุมได้ดี และควบคุมได้ปานกลาง ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่หาโรงพยาบาลค่อนข้างยาก เนื่องจากการจัดให้อยู่ในกลุ่มสีเหลืองแล้ว การให้ไปอยู่ในโรงพยาบาลสนามทั่วๆไป จะมีความเสี่ยงต่อคนไข้พอสมควร
สิ่งที่ผู้ป่วยต้องทำเมื่ออยู่ภายในหอผู้ป่วย
-ใช้ชีวิตประจำวันปกติ อาบน้ำ รับประทานอาหาร รับประทานยาโรคประจำตัว โดยคนไข้จะต้องนำยาที่รักษาโรคประจำตัวมาด้วย
-ในทุกวันผู้ป่วยต้องวัดสัญญาณชีพ วันละ2 ครั้ง ห่างกัน12 ชั่วโมง โดยภายในจะมีโต๊ะอยู่ที่หัวแถวของแต่ละโซน จากนั้นต้องส่งข้อมูลทั้งไลน์บอก หรือ โทร หรือพยาบาลจะไลน์ไปถาม ถ้าใครไม่มีไลน์ก็จะใช้ระบบเพื่อนช่วยเพื่อน
โซนวิกฤตสุด
คือ โซนห้องความดันลบ ที่มีกว่า 100 เตียง โดยเฉพาะในเต้นท์ห้องความดันลบ ที่ถูกจัดแบ่งเป็นห้องๆ ภายในห้อง จะ มีเครื่องไฮโฟลล์ และ เครื่องเฮป้าฟิลเตอร์ สำหรับ กรองเชื้อโรค ก่อนเข้าสู่ระบบระบายอากาศ ออกสู่ภายนอก
สำหรับรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองที่ต้องใช้เครื่องออกซิเจน แต่ยังไม่ถึงขั้นที่เชื้อลงปอด แต่หากแพทย์ที่ดูแลพบว่าผู้ป่วยอาการหนักขึ้นและมีภาวะปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะถูกส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลในเครือ จากทั้งรพ.รัฐและรพ.เอกชนทันที
"ห้องความดันลบจะมีการดูแลพิเศษกว่า มีการวัดสัญญาณชีพที่บ่อยขึ้น ทุก6 ชั่วโมงถ้าไม่สามารถดำเนินการได้เองจะมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ เข้าไปดูแล
ในเต้นท์ความดันลบ ผู้ป่วยจะหายใจด้วยอากาศปกติ เมื่อวัดปลายนิ้วแล้ว ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าร้อยละ 96 ก็จะส่งไปให้ออกซิเจนแคนนูล่า คือ สายออกซิเจนแบบเสียบจมูก ถ้าใช้ออกซิเจนแคนนูล่าแล้ว ยังไม่ดีขึ้น ต่ำกว่า 96 ก็จะส่งตัว เข้าเต้นท์ความดันลบ ที่ใช้เครื่องออกซิเจนสูง คือเครื่องไฮโฟลล์"
โดยจุดที่ให้ออกซิเจนจะอยู่ในโซน A มีท่อออกซิเจนต่อเข้ามาบริเวณหัวของเตียงนอน
นอกจากโซนรักษาแล้ว ยังมีโซนพักผ่อน ดูหนัง ออกกำลังกาย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแบ่งช่วงเวลาให้ ภายในรพ. ถูกวางระบบระบายอากาศอย่างดี มีเครื่องฟอกอากาศ ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมถึงการจัดระบบสิ่งแวดล้อม ป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ภายนอก
กระทรวงสาธารณสุข ได้ระดมบุคลากรทางการแพทย์ในสังกัด จากทั่วประเทศ หมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่ รวม 780 คน ซึ่งต่อ 1 เวรในการดูแลผู้ป่วย จะมีบุคลกรทางการแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นประมาณ100 คน
สำหรับ รพ.บุษราคัม ใช้พื้นที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระยะ 1 เปิดรักษาที่อาคารชาเลนเจอร์ 3 จำนวน 1,092 เตียง หากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสามารถขยายพื้นที่ได้อีก 2 อาคาร รองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 5,000 คน.
ด้านการดูแลสภาพจิตใจ
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในรพ.บุษราคัม เบื้องต้นจะมีเจ้าหน้าที่สุขภาพจิตอยู่เวรประจำวันไว้ 2 ทีม ทำงานร่วมกันเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล
ทีมแรก จะร่วมประเมินอาการเบื้องต้น ด้านสุขภาพจิตว่า ผู้ป่วยแต่ละคนอยู่ในสภาวะจิตใจ ความเครียดระดับใด หากพบรายใดมีความเครียด ความกังวลสูง ทีมสุขภาพจิตจะเข้าไปดูแลเป็นรายบุคคล
ทีมที่ 2 จะเข้าไปทำกิจกรรมผ่อนคลาย ในโซนสีเขียว เพื่อลดความตึงเครียดระหว่างรักษาอาการภายในรพ.
ขณะนี้ ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน อยู่ระหว่าง จัดทำเพลย์ลิสต์เพลง ซึ่งจะมีหลายบทเพลง ความยาวกว่า 3 ชั่วโมง เพื่อใช้เป็นเสียงตามสายเปิดให้ผู้ป่วยได้ผ่อนคลายตามช่วงเวลาอีกด้วย
" ตอนนี้ได้ร่วมมือกับเอกชน ขอลิขสิทธิ์เพลงเพื่อมาขอใช้เปิดให้กับผู้ป่วยฟังระหว่างรักษาอาการตามช่วงเวลา รวมถึง คลิปวีดีโอที่กรมสุขภาพจิตผลิตเองและความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น อย่างน้อยท่านต้องนึกว่า การมาอยู่ 14 วัน 24 ชั่วโมงอยู่ในพื้นที่จำกัด จาการที่กังวลเรื่องอาการป่วย และเพื่อนรอบข้างก็ป่วยด้วย ส่วนมหญ่พอจัดกิจกรรม ก็ทำให้ทุกคนผ่อนคลาย อีกหนึ่งกิจกรรมที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ โดยได้เริ่มในรพ.สนามจนถึงที่นี้ คือ การนำผู้ป่วยที่ไม่ได้มีอาการมาก มาเป็นจิตอาสาเป็นผู้นำกิจกรรม ซึ่งเป็นการใช้เวลาที่มีคุณค่ามากที่สุด" พญ.พรรณพิมล กล่าว
ทั้งนี้ จะมีการติดตามสภาวะจิตใจต่อเนื่อง เมื่อผู้ป่วยรักษาหาย และต้องกลับไปใช้ชีวิตข้างนอก บางรายอาจต้องกลับไปกักตัวต่อ หรือไปยังชุมชน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบบ้างในการใช้ชีวิต
สำหรับโรงพยาบาลบุษราคัม กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลัก มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนในการร่วมสร้าง รพ.ในส่วนต่างๆ รวมถึงการวางระบบ สิ่งอำนวยความสะดวก โดยใช้ระยะเวลา 7 วัน ซึ่ง เริ่มเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา วันนี้มีผู้ป่ววติดเชื้อกลุ่มแรก60 คนเดินทางเข้ารักษาอาการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่รอเตียงอยู่ที่บ้าน
ทีมข่าว TNN ช่อง 16 รายงาน