TNN "หมอธีระ" ชี้โควิดไทยยังรุนแรง แนะวางแผนสำหรับอนาคต 6-12 เดือน

TNN

เกาะติด COVID-19

"หมอธีระ" ชี้โควิดไทยยังรุนแรง แนะวางแผนสำหรับอนาคต 6-12 เดือน

หมอธีระ ชี้โควิดไทยยังรุนแรง แนะวางแผนสำหรับอนาคต 6-12 เดือน

"หมอธีระ" ชี้โควิดไทยยังรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แนะควรวางแผนสำหรับอนาคตอย่างน้อยอีก 6-12 เดือน

วันนี้ (15 พ.ค. 64) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ว่า

"สถานการณ์ทั่วโลก 15 พฤษภาคม 2564... ทะลุ 162 ล้านไปแล้ว 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มถึง 720,830 คน รวมแล้วตอนนี้ 162,503,381 คน ตายเพิ่มอีก 13,396 คน ยอดตายรวม 3,370,529 คน

5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อินเดีย บราซิล อเมริกา อาร์เจนตินา และโคลอมเบีย 

อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 33,478 คน รวม 33,659,758 คน ตายเพิ่ม 687 คน ยอดเสียชีวิตรวม 599,281 คน อัตราตาย 1.8% 

อินเดีย ติดเพิ่มมากถึง 326,123 คน รวม 24,372,243 คน ตายเพิ่ม 3,879 คน ยอดเสียชีวิตรวม 266,229 คน อัตราตาย 1.1% 

บราซิล ติดเพิ่ม 84,486 คน รวม 15,521,313 คน ตายเพิ่มถึง 2,189 คน ยอดเสียชีวิตรวม 432,785 คน อัตราตาย 2.8% 

ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 7,025 คน ยอดรวม 5,848,154 คน ตายเพิ่ม 173 คน ยอดเสียชีวิตรวม 107,423 คน อัตราตาย 1.8%

ตุรกี ติดเพิ่ม 11,394 คน รวม 5,095,390 คน ตายเพิ่ม 242 คน ยอดเสียชีวิตรวม 44,301 คน อัตราตาย 0.9% ตอนนี้ตุรกีคุมการระบาดได้ดีขึ้นอย่างมาก หลังจากตัดสินใจล็อคดาวน์ โดยเคยมีจำนวนติดเชื้อสูงสุดถึง 63,082 คน ณ วันที่ 16 เมษายน 2564

อันดับ 6-10 เป็น รัสเซีย สหราชอาณาจักร อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลักหมื่น 

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เนปาล ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น 

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง อยู่ระดับหลักร้อยถึงพันกว่า หลายประเทศกดลงมาอยู่หลักร้อย ยกเว้นลิธัวเนีย คาซักสถาน ยูเครน เบลารุส จอร์เจีย ที่ยังหลักพัน

แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน อิหร่านนั้นตอนนี้ยังเกินหมื่น แต่ดูแนวโน้มลดลง 

เกาหลีใต้ กัมพูชา และเวียดนาม ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนสิงคโปร์ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ 

...ไต้หวัน ตอนนี้ติดเชื้อใหม่ระดับหลักสิบมาติดต่อกัน 5 วันแล้ว ดูลักษณะเป็นระลอกสามเช่นกัน แต่ไม่รุนแรงเท่ากับที่เรากำลังเผชิญ ล่าสุดติดไป 34 คน ยอดรวมทุกระลอก 1,290 คน เสียชีวิตรวม 12 คน

...ตอนนี้มีสายพันธุ์ไวรัสที่กลายพันธุ์ B.1.620 ซึ่งมีแนวโน้มจะแพร่ไวและอาจตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันลดลง กำลังค่อยๆ แพร่ในสิบกว่าประเทศในยุโรป คาดว่ามีต้นกำเนิดจากแถบแอฟริกากลาง แถวชายแดนแคเมอรูน ตรวจพบในยุโรปครั้งแรกที่ลิธัวเนีย และกระจายไปฝรั่งเศส เบลเยี่ยม ฯลฯ คงต้องติดตามอัพเดตกันต่อไป

...สำหรับสถานการณ์ระบาดในไทยเรานั้นยังรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

ควรวางแผนสำหรับอนาคตอย่างน้อยอีก 6-12 เดือน

สถานที่ทำงานและการเรียนต่างๆ หากปรับแผนการทำงานหรือการเรียนระยะยาว ให้ onsite เท่าที่จำเป็นจริงๆ, ลดทอนกิจกรรมที่ต้องพบปะกันเป็นกลุ่มใหญ่ลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้, 

กำหนดมาตรการคัดกรองและป้องกันให้ทำอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง, และกำหนดนโยบายและมาตรการในการปฏิบัติ (Standard operating procedure: SOP) เวลามีรายงานพบการติดเชื้อ 

หรือการสัมผัสความเสี่ยง เพื่อให้บุคลากรของตนเองได้ปฏิบัติ ทั้งเรื่องการตรวจและการกักตัวสังเกตอาการ

สำหรับประชาชน ควรต้องตระหนักว่า ด้วยนโยบายและมาตรการที่เห็น คงยากที่จะตัดวงจรการระบาด และแนวโน้มการติดเชื้อจะยังมีไปเรื่อยๆ 

ดังนั้นการป้องกันตัวเองและสมาชิกในครอบครัวจึงต้องทำอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาให้น้อย ใส่หน้ากากสองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า พกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัว ล้างมือบ่อยๆ หลังจับต้องสิ่งของสาธารณะ พบเจอคนน้อยๆ สั้นๆ และห่างๆ ใช้เทคโนโลยีติดต่อสื่อสารกันแทนการพบแบบเผชิญหน้า ระวังสุขาสาธารณะ เลี่ยงการกินดื่มในร้าน ซื้อกลับจะปลอดภัยกว่า และไม่ควรตะลอนท่องเที่ยว

ที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะเป็นเช่นไร ความรู้ที่พิสูจน์ชัดเจนคือ โรคติดต่อมันติดเพราะความใกล้ชิด แออัด อยู่กันเวลานาน พบปะสัมผัสกันบ่อย และไม่ป้องกันตัว ดังนั้นหลักการป้องกันจึงต้อง"ลดจำนวนคนที่เจอพบปะ ลดเวลา ลดจำนวนครั้ง เพิ่มระยะห่าง ในทุกกิจกรรมที่เราใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน"

ในขณะเดียวกัน ก็หมั่นตรวจสอบตัวเองและสมาชิกในครอบครัว ว่าแต่ละวันเสี่ยงอะไรมาบ้างไหม เจอใครบ้าง นานไหม ห่างไหม ป้องกันตัวดีไหม และสอบถามอาการ หากไม่สบาย ต้องสงสัยไว้ก่อน และให้ป้องกันตัวในบ้าน แยกจากสมาชิกในครอบครัว แล้วไปตรวจรักษา

อีกเรื่องที่สำคัญคือ วางแผนการใช้จ่ายให้ดี ใช้เท่าที่จำเป็น ประหยัดได้ควรประหยัด

ประเมินสถานการณ์แล้ว คงต้องขอแนะนำดังที่บอกมาข้างต้นครับ   

ด้วยรักและห่วงใย"


ข่าวแนะนำ