TNN ยังหนัก! บราซิลทำสถิติดับจากโควิดวันละ 2,000 ติดต่อกันเกือบ 50 วัน

TNN

เกาะติด COVID-19

ยังหนัก! บราซิลทำสถิติดับจากโควิดวันละ 2,000 ติดต่อกันเกือบ 50 วัน

ยังหนัก! บราซิลทำสถิติดับจากโควิดวันละ 2,000 ติดต่อกันเกือบ 50 วัน

ผู้เชี่ยวชาญเตือน บราซิลยังถูกรุมเร้าอย่างหนักจากไวรัสโควิด-19 เผชิญหน้ากับไวรัสกลายพันธุ์หลายสายพันธุ์มาก มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยรายวันมากกว่า 2,000 รายติดต่อกันเกือบ 50 วันแล้ว ถือว่ายังอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง

วันนี้ (7 พ.ค.64) บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนเมื่อไม่นานมานี้ว่า บราซิลยังคงตกอยู่ในสถานการณ์เปราะบางจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะไวรัสยังระบาดต่อเนื่องและกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่หลากหลายสายพันธุ์ ท่ามกลางการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในระดับต่ำมาก ทั้งนี้ บราซิลมีผู้เสียชีวิตจากโควิดเฉลี่ยรายวันเกิน 2,000 รายเกือบ 50 วันติดต่อกัน โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้เสียชีวิตและติดเชื้อรายใหม่ลดลงเล็กน้อย

แม้มีแนวโน้มที่ดีที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลง แต่จำนวนก็ยังคงที่และอยู่ในระดับที่สูงมาก นพ.ไอตัน เบเรซิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด ของวิทยาลัยการแพทย์ Santa Casa School of Medicine กล่าวว่า โรงพยาบาลทั่วบราซิลเต็มหมดแล้ว เพราะฉะนั้นบราซิลยังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมจากการระบาดของโควิด

ขณะเดียวกัน ยังคงมีความพยายามที่จะฉีดวัคซีน แต่ก็ถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ช้าเกินไปในการควบคุมการระบาดของไวรัสระลอกปัจจุบัน มีหลายเมืองทั่วประเทศต้องระงับการฉีดวัคซีนเนื่องจากขาดแคลนยา

นับถึงวันนี้ บราซิลมีประชาชนฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดสแล้วประมาณ 31.87 ล้านคน เกิน 15% ของประชากรทั่วประเทศเล็กน้อย และเกือบ 16 ล้านคนได้รับวัคซีนครบแล้ว อย่างไรก็ตาม มีความวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ที่แพร่เชื้อและติดต่อได้ง่ายขึ้น

เฉพาะในรัฐเซาเปาลู สถาบัน Adolfo Lutz Institute สำรวจพบว่า มีไวรัสโควิด 12 สายพันธุ์ระบาดอยู่ในรัฐนี้ โดยสายพันธุ์ที่รุนแรงที่สุด คือ P1 มีผู้ติดเชื้อประมาณ 90% ในภูมิภาคมาเนาส์ เมืองเอกของรัฐอามาโซนัส

อาเดรียโน อับบุด ผู้อำนวยการศูนย์ตอบโต้เร็วของสถาบัน Adolfo Lutz Institute กล่าวว่า ตราบใดที่ยังเกิดไวรัสกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ แบบนี้ และในกรณีของบราซิล ซึ่งก็คล้ายกับที่เกิดขึ้นในอินเดีย มีไวรัสกลายพันธุ์หลากหลายสายพันธุ์มาก เพราะไม่มีการควบคุมการระบาด ไวรัสยิ่งมีการกลายพันธุ์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการแพร่เชื้อใหม่มากขึ้น 

บราซิลยังเป็นหนึ่งประเทศที่เป็นศูนย์กลางการระบาดที่เลวร้ายที่สุดแห่งที่ 2 ของโลก ซึ่งขณะนี้ บราซิลประสบปัญหาใหญ่ที่เป็นปัจจัยให้การระบาดรุนแรงมากขึ้น ทั้งประชาชนไม่สนใจมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม, การระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น และการขาดแคลนวัคซีนในวงกว้าง จึงยังมองไม่เห็นว่าวิกฤตจะทุเลาเบาบาง 


ข่าวแนะนำ