เอกชนแนะรัฐกู้เงินเพิ่ม8แสนล้าน อัดเงินเข้าระบบปลุกเศรษฐกิจฟื้น
เอกชนแนะรัฐกู้เงินเพิ่ม 8 แสนล้านเยียวยา-ฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ หลังโควิดรอบใหม่ฉุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงัก
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับงบประมาณของรัฐว่าจะเพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ เนื่องจากการแพร่ระบาดในรอบแรก รัฐบาลได้มีการกู้เงิน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำนวน 1 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันยังเหลือประมาณ 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อเกิดการระบาดระลอก 3 เม็ดเงินที่เหลืออยู่ยังเพียงพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ ดังนั้นอยากเสนอให้รัฐบาลกู้เงินอีกอย่างน้อย 7-8 แสนล้านบาท เพื่อมารวมกับงบประมาณเก่าที่มีอยู่ โดยจะรวมเป็นเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเชื่อว่างบประมาณจำนวนนี้จะสามารถอัดฉีดให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ หรือถ้าประเมินแล้วพบว่ามีความเสียหายมากรัฐอาจจะต้องกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท บวกกับของเดิมที่มีอยู่รวมเป็น 1.24 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป
การแพร่ระบาดของโควิดระลอก 3 ทำให้แผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย โดยเฉพาะภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์โมเดล ในวันที่ 1 ก.ค.นี้อาจไม่ได้เป็นไปตามแผนที่รัฐวางไว้ และทำให้ภาพรวมการท่องเที่ยวเติบโตได้เพียง 1-2% แต่อาจได้การส่งออกเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจเห็นได้จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น ยุโรป สหรัฐ และจีนเริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะสหรัฐ หลังจากนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐเข้ามาบริหารประเทศได้เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน 100 ล้านโดส ภายใน 100 วัน แต่เมื่อครบกำหนดสามารถทำได้ถึง 229 ล้านโดส และเตรียมฉีดเพิ่มอีก 100 ล้านโดส พร้อมเพิ่มเงินเยียวยาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 2,000 เหรียญสหรัฐ ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและการบริโภคเพิ่มขึ้น และทำให้จีดีพีสหรัฐปีนี้โตถึง 6%
ทั้งนี้ส่งผลให้ไทยได้รับอานิสงส์ดังกล่าว เห็นได้จากยอดการส่งออกล่าสุดของไทยเดือนมี.ค.เติบโตขึ้นประมาณ 8% ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับประมาณการตัวเลขภาคการส่งออกปีนี้จากที่คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 3-5% เพิ่มเป็น 4-6% และเชื่อว่าเม็ดเงินจากภาคการส่งออกจะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจแทนภาคการท่องเที่ยวได้ ซึ่งปัจจุบันการส่งออกคิดเป็น 60-70% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ส่วนภาคการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 18 % ของจีดีพี แบ่งเป็นต่างชาติเที่ยวไทย 12% และไทยเที่ยวไทย 6%
" สินค้าส่งออกของไทยหลายประเภทเริ่มมียอดสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มมากขึ้น อาทิ ถุงมือยาง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยาง ไม้อัด และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น แม้หลายฝ่ายจะออกมาปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ลงเหลือ 1.5-3% เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ยังมีความรุนแรง ซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนเป็นหลัก หากสามารถฉีดได้เร็วสถานการณ์ก็จะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีมากขึ้น แต่หากดำเนินการล่าช้า จีดีพีไทยอาจลดลง 0-1%"