TNN เปิดเคสตัวอย่างจากทั่วโลก แม้ฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังติดเชื้อโควิด-19

TNN

เกาะติด COVID-19

เปิดเคสตัวอย่างจากทั่วโลก แม้ฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังติดเชื้อโควิด-19

เปิดเคสตัวอย่างจากทั่วโลก แม้ฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังติดเชื้อโควิด-19

เปิดเคสตัวอย่างผู้ป่วยหลายรายจากทั่วโลก แม้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังติดเชื้อโควิด-19

จากกรณีหญิงไทย อายุ 29 ปี อาชีพขายอาหารทะเลที่ตลาดกิตติ เขตบางแค ผลตรวจยืนยันติดเชื้อ แต่รายนี้ได้รับวัคซีนแล้ว เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด จากประวัติการสอบสวนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ราชบุรี และโรงพยาบาล (รพ.) ราชบุรี พบว่าช่วงก่อนฉีดวัคซีน ผู้ป่วยขายของในตลาดดังกล่าว 


เมื่อวันที่ 13 มีนาคม เคยตรวจหาเชื้อ แต่ไม่พบเชื้อ และช่วงตลาดปิดหยุดขายของ จึงได้พักอยู่บ้านเป็นหลัก และเมื่อได้รับแจ้งว่าในพื้นที่มีการฉีดวัคซีน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ผู้ป่วยจึงไปฉีดวัคซีน 


อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม หลังฉีดวัคซีน 2 วัน สสจ.ราชบุรี ได้สอบสวนและตรวจพบว่ามีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แต่ยังไม่ได้ตรวจหาเชื้อในผู้ป่วยรายดังกล่าว จึงให้เข้าพักในสถานกักกันโรคของรัฐ จ.ราชบุรี ในระหว่างนั้น มีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) 


เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ผลตรวจพบเชื้อ แต่จากข้อมูลทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ระบุว่าเชื้อมีปริมาณน้อยและไม่มีอาการป่วย


ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ต่างประเทศก็มีผู้ป่วยหลายราย ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด -19 แล้ว ยังมีการติดเชื้อ แม้ว่าผู้ป่วยบางคน ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 โดสแล้วก็ตาม


สำนักข่าวแชนเนลนิวส์เอเซีย รายงานว่า จีนพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ท้องถิ่นรายแรก โดยพบว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้หญิงแซ่ หลิว ทำงานในพื้นที่กักกันของโรค ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองซีอาน มีหน้าที่เก็บตัวอย่างจากผู้ถูกกักตัว เพื่อนำมาตรวจหาไวรัส ก่อนที่เธอจะสัมผัสกับเชื้อโดยไม่ได้ตั้งใจ และเธอได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว  จนกระทั่งได้รับการยืนยันว่า ติดเชื้อ


ขณะที่ ศาสตราจารย์ เจิ้ง กวง อดีตหัวหน้านักระบาดวิทยาของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีนกล่าวว่า อัตราการป้องกันของวัคซีนไม่ใช่ 100 % ดังนั้น ผู้ได้รับค่อนข้างปลอดภัยจากเชื้อ ไม่ใช่ ปลอดภัยอย่างสมบูรณ์


เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า นายแกรี่เคิล ชายชาวอเมริกันจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากเพิ่งได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 โดสที่ 2 ของบริษัทไฟเซอร์/ไบออนเทค เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนการตรวจพบเชื้อ โดยนายไมเคิลตรวจหาเชื้อโควิด-19ระหว่างเข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลมิชชั่น ในเมืองมิชชั่นวีโจ เพื่อรักษาอาการป่วยที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 


นายแพทย์ตีร์โซ เดล ฮุนโก จูเนียร์ หัวหน้าบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเคพีซีเฮลท์ ระบุว่า แม้จะรับวัคซีนแล้ว ก็สามารถตรวจพบเชื้อได้ ไม่ใช่สิ่งแปลก และเกินความคาดหมาย และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ต้องรณรงค์ให้ผู้คนสวมหน้ากากอนามัยตลอดไม่ว่าจะได้รับวัคซีนแล้วหรือไม่ก็ตาม 


เช่นเดียวกับที่รัฐฮาวาย มีรายงานว่า ชาวฮาวาย 3 คน ที่ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว  ติดเชื้อโควิด-19 แต่ทั้ง 3 คนไม่มีอาการทรุดจนป่วยหนัก และไม่ได้แพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ และ 1 ใน 3 ตระเวนเดินทางไปหลายเมืองในสหรัฐ


นายแพทย์ เมลินดา แอชตัน แห่งสำนักสาธารณสุขฮาวาย ชี้ว่า ข่าวนี้เตือนประชาชนว่า การเดินทางเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ได้ แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม ก็ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกับคนกลุ่มใหญ่ 


ยังมีเคสที่ฝรั่งเศส ผู้ป่วยรายนี้ คือ นางโรสลิน บาเชโล รัฐมนตรีวัฒนธรรมฝรั่งเศส วัย 74 ปี ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในกรุงปารีส หลังติดโรคโควิด-19 แม้ว่าก่อนหน้านี้ นางบาเชโล เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 


ด้านนายฌอง ฟรองซัวส์ ทิมซิต หัวหน้าแผนกไอซียูของโรงพยาบาลบิแชทในกรุงปารีส ระบุว่า แม้จะติดเชื้อหลังรับการฉีดวัคซีน แต่ก็มีอาการไม่รุนแรง เพราะวัคซีนที่ได้รับนั้น ช่วยลดความเสี่ยงได้


ทั้งหมดนี่คือเคสตัวอย่าง ที่รับการฉีดวัคซีนแล้ว และพบว่าติดเชื้อโควิด-19 


ขณะเดียวกัน แพทย์จากทั่วโลกอีกหลายคนระบุว่า การที่ผู้รับวัคซีนแล้วพบว่าติดเชื้อนั้น ส่วนมากไม่มีอาการทรุดหนักจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า แม้วัคซีนไม่ได้ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 แต่สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่อาการจะทรุดหนัก หรือมีอาการรุนแรง จนต้องเข้าโรงพยาบาลได้


และไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ เพราะวัคซีนมีประสิทธิภาพประมาณร้อยละ 95 ซึ่งหมายความว่า ในขณะที่ร้อยละ 95 ของผู้ได้รับวัคซีน จะเกิดภูมิคุ้มกันจากไวรัสโควิด แต่อีกร้อยละ 5 ที่เหลือ อาจไม่เกิดภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะได้รับวัคซีนของบริษัทไหนก็ตาม


การติดเชื้อหลังฉีดวัคซีน ไม่ได้หมายความว่า วัคซีนใช้ไม่ได้ผล ตรงข้าม นั่นแสดงว่าวัคซีนใช้ได้ผลกับคนส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่กับทุกคน และวัคซีนล้วนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า ไม่มีตัวไหนที่ใช้ได้ผล 100%

ข่าวแนะนำ