เยอรมนีเตือน! โควิด-19ระลอกสามหนักสุดรายวันอาจติดเชื้อ 1 แสนราย
เยอรมนีเตือนไวรัสโควิด-19 ระบาดระลอกสาม หนักกว่าสองรอบแรก หลังมีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงกว่า 100,000 คนต่อเนื่อง
วันนี้ ( 27 มี.ค. 64 )ผู้อำนวยการสถาบันโรแบร์ท ค็อค (Robert Koch Institute) หรืออาร์เคไอ (RKI) หน่วยงานการวิจัยป้องกันและควบคุมโรคของเยอรมนี แถลงในวันศุกร์ว่า การระบาดระลอกสามของไวรัสโควิด-19 ในเยอรมนี อาจเลวร้ายหนักที่สุด และการติดเชื้อรายวันรายใหม่กว่า 100,000 คน ก็ยังมีความเป็นไปได้ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเยอรมนีพุ่งสูงขึ้นในช่วงไม่กี่วันมานี้ ซึ่งสาเหตุมาจากโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ B117 ที่ระบาดและติดเชื้อง่ายขั้น และการเคลื่อนไหวผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บางส่วน
โลธาร์ เวเลอร์ ผู้อำนวยการของอาร์เคไอ กล่าวว่า มีสัญญาณชัดเจนว่า คลื่นการระบาดครั้งที่สามจะเลวร้ายกว่าการระบาดสองครั้งแรก ขณะเดียวกัน เขาก็เรียกร้องให้ประชาชนพักอยู่ที่บ้านในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ด้วย โดยบอกว่า เรามีสัปดาห์ที่ยุ่งยากมากรออยู่ข้างหน้า
ในเวลาต่อมา อาร์เคไอ ได้ออกคำเตือนการเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านหลายชาติ ซึ่งรวมทั้งฝรั่งเศส, ออสเตรีย, เดนมาร์ก และสาธารณรัฐเชก เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด ขณะที่ผู้คนที่เดินทางจากประเทศเหล่านี้ ต้องแสดงผลตรวจโควิดเป็นลบน้อยกว่า 48 ชั่วโมงที่ด่านตรวจพรมแดนเยอรมนี จากนั้นก็ต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว 10 วัน ซึ่งสามารถลดเวลาลงมาได้เมื่อตรวจซ้ำเป็นลบครั้งที่สอง หลังผ่านไป 5 วัน
ทั้งนี้ เยอรมนีพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 21,573 คนในวันศุกร์ และเสียชีวิตเพิ่มอีก 183 คน
ขณะเดียวกัน ผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียู ตัดสินใจไม่ใช้มาตรการห้ามส่งออกวัคซีนต้านโควิด-19 ตามข้อเสนอของเออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปโดยให้เหตุผลว่าเพื่อรักษา “ห่วงโซ่อุปทานวัคซีนระดับโลก” และป้องกันไม่ให้เกิด “สงครามวัคซีน” ขึ้น โดยฟ็อน แดร์ ไลเอิน กล่าวต่อที่ประชุมออนไลน์ในวันพฤหัสบดีว่า มีการส่งวัคซีนข้ามช่องแคบอังกฤษไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นจำนวนของวัคซีนส่วนใหญ่ที่อังกฤษได้รับ โดยโรงงานผลิตวัคซีนในอียูได้ส่งออกวัคซีนไป 77 ล้านโดส และส่งวัคซีน 88 ล้านโดสไปยังประเทศสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม
ประธานคณะกรรมาธิการอียู เรียกร้องให้ผู้นำอียูสนับสนุนกฎระเบียบของทางคณะกรรมาธิการ ที่ออกมาเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ห้ามส่งออกวัคซีนขณะที่อียูเผชิญปัญหาขาดแคลนวัคซีน
ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาคร็อง ของฝรั่งเศส สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว โดยระบุว่า ต้องมีการห้ามส่งออกวัคซีนเนื่องจากบริษัทยาบางบริษัทไม่ให้ความสำคัญต่อประเทศยุโรปเป็นหลัก เช่นเดียวกับสเปนและอิตาลีที่เรียกร้องให้งดส่งออกวัคซีนไปยังประเทศที่สามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้เป็นจำนวนมากหรือมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสต่ำ
อย่างไรก็ตาม เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ เบลเยียม และสวีเดน ไม่เห็นด้วยกับการห้ามส่งออกวัคซีน โดยประเทศเหล่านี้เน้นย้ำในแถลงการณ์หลังการประชุม ถึง “ความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก” ของวัคซีน ทั้งนี้ เบลเยียมและอังกฤษได้เจรจากันถึงข้อตกลงส่งออกวัคซีน
แถลงการณ์ดังกล่าวยังเรียกร้องให้บริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) บริษัทยาสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ให้ “คาดการณ์ปริมาณการผลิตวัคซีนอย่างแม่นยำ และเคารพเส้นตายของการจัดส่งวัคซีนตามข้อสัญญา” โดยก่อนหน้านี้ AstraZeneca ไม่สามารถส่งวัคซีนให้ประเทศอียูได้ตามกำหนด
อียูและอังกฤษประสบปัญหาไม่ได้รับวัคซีนจาก AstraZeneca ตามกำหนดเวลา โดยก่อนหน้านี้ อียูได้สั่งห้ามให้ส่งออกวัคซีนของแอสตราเซเนกา 250,000 โดสไปยังออสเตรเลีย
ทั้งนี้ การแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้าเป็นประเด็นร้อนไปทั่วยุโรป ในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นทั่วทวีปอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับสถานการณ์ในอังกฤษและสหรัฐฯ ที่มีการแจกจ่ายวัคซีนรวดเร็วกว่าจนยอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตลดลงเป็นอย่างมาก