รองผู้ว่าฯสมุทรสาคร ยัน "ตลาดกลางกุ้ง" เปิดแน่ 1 มี.ค.นี้
รองผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ยืนยัน "ตลาดกลางกุ้ง" เปิดค้าขายตามปกติอีกครั้ง 1 มี.ค.นี้
วันนี้(26 ก.พ.64) นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวานนี้( 25 ก.พ.) เพื่อดูความพร้อมของตลาดกลางกุ้งอีกครั้ง ก่อนที่จะมีการทำบุญถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ในวันอาทิตย์ที่ 28 ก.พ. เพื่อปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัย และยังเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยก่อนที่จะเปิดค้าขายตามปกติอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 1 มี.ค.2564 นี้
นายธีรพัฒน์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ได้ลงพื้นที่ตรวจประเมินตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อสองวันที่ผ่านมา โดยภาพรวมถือได้ว่าทางตลาดกลางกุ้งมีการปรับปรุงแก้ไขพื้นที่โดยรอบได้ดีขึ้นมาก เป็นไปตามหลักเกณฑ์เพื่อการเฝ้าระวังและการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้นทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร จึงเห็นสมควรว่าตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร แต่เดิมเคยมีคำสั่งห้ามซื้อ – ขายสินค้าสัตว์น้ำในตลาดกลางกุ้งตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2563 จนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2564 นั้น มาขณะนี้เมื่อทางเจ้าของแพกุ้ง – แพปลา และผู้ที่พักอาศัยในพื้นที่ได้ร่วมกันปรับปรุงตลาดกลางกุ้งตามคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครแล้วนั้น ในวันที่ 1 มี.ค.นี้ จะมีคำสั่งให้ตลาดกลางกุ้งกลับมาค้าขายได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ก็จะต้องมีการตรวจประเมินอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆด้วย เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่บุคคลภายนอกจังหวัดสมุทรสาคร เกี่ยวกับความปลอดภัยของตลาดกลางกุ้ง แล้วกลับเข้ามาซื้อขายกันเหมือนอย่างที่ผ่านมา
อีกทั้งยังเพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดสมุทรสาครอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ผมก็ขอการันตีว่า ตลาดกลางกุ้งเป็นพื้นที่ที่สะอาดและปลอดภัยแล้ว ผู้ที่จะเข้ามาทำการซื้อขายในตลาดกลางกุ้ง สามารถทำได้ปกติแต่ต้องเป็นไปภายใต้มาตรการ New Normal
ด้านเจ้าของแพกุ้ง บอกว่า รู้สึกดีใจที่ตลาดกลางกุ้งจะกลับมาเปิดได้อีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ทั้งผู้ประกอบการในตลาดกลางกุ้งและแรงงานข้ามชาติ ต่างก็ได้ช่วยกันปรับปรุงแก้ไขทำตามมาตรการที่ทางจังหวัดกำหนด และหลังจากนี้ก็จะปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การค้าขายในตลาดกลางกุ้งเป็นไปอย่างปกติและยาวนาน ไม่กลับมาเกิดการระบาดของโรคอีกครั้ง
สำหรับในตลาดกลางกุ้ง ได้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของตลาด กับ ส่วนของที่พักอาศัย โดยในส่วนพื้นที่ของตลาดมีมาตรการที่ต้องปฏิบัติ อาทิเช่น กำหนดทางเข้าออกที่ชัดเจน,มีการคัดกรองทุกคนที่เข้าไปใช้บริการ,สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการ, มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล – แผงค้า – โต๊ะและที่นั่ง/ยืนสำหรับการซื้อสินค้าและชำระเงินอย่างน้อย 1-2 เมตร , มีที่ล้างมือ,มีการทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ตลาด-บริเวณที่ให้บริการแผงจำหน่ายอาหารสดหรือแผงชำแหละเนื้อสัตว์สด ด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อประจำทุกวัน และล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง, มีพนักงานดูแลรักษาความสะอาดประจำตลาด และบริการเป็นช่วงเวลา,การจัดสภาพแวดล้อมในตลาด ต้องจัดให้มีการระบายอากาศที่เหมาะสม,มีมาตรการลดความแออัดในพื้นที่ให้บริการ เช่น กำหนดจำนวนคนต่อพื้นที่ กำหนดระยะเวลาในการซื้อขายให้กับลูกค้าแต่ละคน เป็นต้น , ทำความสะอาดห้องน้ำห้องส้วมที่ให้บริการในตลาดโดยเน้นบริเวณจุดเสี่ยง, มีการจัดการขยะอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ผู้ค้าและผู้ปฏิบัติงานในตลาด เมื่อมีอาการเจ็บป่วย ให้หยุดขายและไปพบแพทย์ทันที,ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ให้บริการ,ต้องล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนและหลังปฏิบัติงาน และหลังออกจากห้องส้วม และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก,ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น เช่น การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1 - 2 เมตร , การแสดงป้ายราคาสินค้ามีอุปกรณ์หรือถาดสำหรับรับเงิน จัดทำระบบชำระเงินออนไลน์ เป็นต้น ผู้ปฏิบัติงานเก็บขยะและทำความสะอาดต้องสวมถุงมือยาง – ผ้ายางกันเปื้อน – รองเท้าพื้นยางหุ้มแข็งและใช้คีมคีบด้ามยาวคีบขยะและใส่ถุงขยะปิดปากถุงให้มิดชิดแล้วล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังปฏิบัติงาน เมื่อปฏิบัติงานเสร็จในแต่ละวันให้อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที ส่วนทางด้านผู้ซื้อผู้ / บริโภค สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่มาใช้บริการ , เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 - 2 เมตร และวางแผนในการซื้อสินค้าเพื่อความรวดเร็วและลดระยะเวลาที่ใช้บริการตลาด ขณะที่มาตรการเสริมเพื่อการป้องกันคือ มีระบบการสั่งซื้อและระบบการชำระเงินออนไลน์ , มีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การป้องกันโรคโควิด - 19 และมีมาตรการลดปริมาณขยะและลดการสัมผัส ส่วนที่พักอาศัย ก็จะต้องเช่าพักอาศัยกันอย่างไม่แออัด มีการรื้อถอนสิ่งต่อเติมที่ไม่ได้มาตรฐาน ก่อให้เกิดอันตราย และการออกมาตรการบังคับใช้ตามหลักสุขอนามัย เป็นต้น
นอกจากนี้ นายธีรพัฒน์ ยังได้ลงพื้นที่เดินตลาดมหาชัย และตลาดทางรถไฟมหาชัย โดยมีหัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรสาคร เจ้าหน้าที่จากเทศบาลนครสมุทรสาคร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อดูความสะอาดเรียบร้อยของตลาดทั้ง 2 แห่งอีกด้วย