ห่วงกลุ่ม 608 หลังโควิด-19 แพร่เชื้อง่าย อาการไม่รุนแรง
โควิดไทยยังพบป่วยต่อเนื่อง สัปดาห์ล่าสุดเสียชีวิต 9 ราย อธิบดีกรมควบคุมโรคย้ำ เตือนระวังไม่นำเชื้อสู่กลุ่มเสี่ยง 608
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (21-27 เม.ย.67) พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 1,672 ราย เฉลี่ย 239 รายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 390 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 148 ราย และมีผู้เสียชีวิต 9 ราย เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนตามที่เคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากโรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี และยังเป็นโรคประจำฤดูกาล โดยจะพบผู้ป่วยมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ต่อเนื่องจนถึงฤดูฝนที่กำลังจะถึงนี้ ประกอบกับเป็นช่วงเปิดเทอมด้วย ไม่ต่างจากโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ทั้งไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี เป็นต้น แต่ความรุนแรงของโรคโควิด-19 ลดลงอย่างมาก จากการวิเคราะห์ข้อมูลติดตามย้อนหลังในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาพบว่าอัตราป่วยตายของโรคโควิด-19 ลดลงจาก 0.98% (ปี 2563-2564) เป็น 0.04% (ปี 2567) ซึ่งใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ และต่ำกว่าไข้เลือดออก
เนื่องจากปัจจุบันมีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น มีการตรวจวินิจฉัยที่ดีขึ้น มียารักษาทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรต่างๆ รวมทั้งมีวัคซีนป้องกันโรค ประกอบกับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะนี้เป็นสายพันธุ์ย่อยของ XBB.1 ซึ่งเป็นลูกหลานของโอมิครอน อาการไม่รุนแรง เป็นเหมือนหวัดธรรมดาทั่วไป ซึ่งจุดนี้เองอาจทำให้ประชาชนไม่ได้ระวังจึงแพร่เชื้อต่อกันได้ง่าย สิ่งสำคัญคือต้องระมัดระวังไม่นำเชื้อไปสู่กลุ่มเสี่ยง ซึ่งจากข้อมูลผู้เสียชีวิตทุกรายยังพบว่าเป็นกลุ่ม 608 โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง
ดังนั้น ขอให้ประชาชนมีความตระหนักแต่ไม่ตระหนก โดยประชาชนทั่วไปควรเน้นสุขอนามัยส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หรือที่ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น ในการเดินทางสาธารณะ ที่โรงพยาบาล และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ และหมั่นล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการคล้ายหวัด ควรทำการตรวจ ATK และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง 608 หากผลตรวจเป็นบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและพบแพทย์โดยเร็วเมื่อมีอาการหายใจลำบากหรืออื่นๆ เพื่อป้องกันการนำเชื้อไปแพร่สู่กลุ่มเปราะบางในบ้าน สำหรับกลุ่ม 608 หากมีอาการคล้ายหวัด และผลตรวจ ATK เป็นบวก 2 ขีด ควรสวมหน้ากากและรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษา เพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการรุนแรง