"โอมิครอน XBB.1.5" แพร่แล้ว 38 ประเทศ ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากสุด!
หมอธีระ เปิดข้อมูล "โอมิครอน XBB.1.5" ตรวจพบแล้ว 38 ประเทศทั่วโลก และ ยังดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุด
หมอธีระ เปิดข้อมูล "โอมิครอน XBB.1.5" ตรวจพบแล้ว 38 ประเทศทั่วโลก และ ยังดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุด
ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า
12 มกราคม 2566
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 328,963 คน ตายเพิ่ม 1,034 คน รวมแล้วติดไป 669,635,094 คน เสียชีวิตรวม 6,718,899 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 94.87 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 82.78
อัปเดตเรื่อง Omicron XBB.1.5
เมื่อคืนนี้ 11 มกราคม 2566 องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่ข้อมูลประเมินความเสี่ยงของการระบาดจาก XBB.1.5 ล่าสุดมีรายงานการตรวจพบทั่วโลก 38 ประเทศ นับตั้งแต่ 22 ตุลาคม 2565 ถึง 11 มกราคม 2566
ประเทศที่ส่งรายงานการตรวจพบมากสามอันดับแรกคือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก อัตราการขยายตัวของการระบาดในสหรัฐอเมริกานั้นสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากสัปดาห์ละ 1% (ณ สัปดาห์ที่ 47) เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 8% (ณ สัปดาห์ที่ 50) ภายในสามสัปดาห์ และมีการแพร่ระบาดมากแถบตะวันออกเฉียงเหนือ
สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 นี้ เป็นลูกหลานในตระกูล XBB ซึ่งข้อมูลปัจจุบันชี้ชัดว่าดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุดในทุกสายพันธุ์ของโควิด-19 ที่เคยมีมา โดย XBB.1.5 นั้นดื้อเทียบเท่ากับสายพันธุ์ XBB.1
ในแง่ความรุนแรงของโรคนั้น ยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าจะรุนแรงกว่า Omicron สายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ที่ระบาดอยู่หรือไม่องค์การอนามัยโลกประเมินว่า สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 นี้มีแนวโน้มที่จะระบาดมากขึ้นทั่วโลกได้ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวัง ติดตามอย่างใกล้ชิด ในขณะเดียวกัน Wenseleers T จากเบลเยี่ยม และ Gerstung M จากเยอรมัน ได้ทำการประเมินสมรรถนะการขยายตัวของการระบาดจาก XBB.1.5 ในทวีปต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบกันพบว่าปัจจุบัน XBB.1.5 มีอัตราการขยายตัวของการระบาดมากในทวีปอเมริกาเหนือ และยุโรป แต่ทวีปอื่นๆ ก็ยังพบการเพิ่มขึ้นในบางประเทศ ยังไม่มากนัก
สำหรับคนไทยเรา
ควรระลึก วิเคราะห์ และเรียนรู้จากบทเรียนในรอบสองปีกว่าที่ผ่านมาที่เกิดการติดเชื้อ ป่วย และเกิดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจำนวนมาก
สัจธรรมที่เห็นคือ การจะปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตได้ จำเป็นต้องมีความรู้เท่าทันสถานการณ์ รับรู้รับทราบข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องและทันต่อเวลา เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ทำในสิ่งที่ควรทำ และควรหาทางช่วยกันจัดการ ป้องกันไม่ให้"รากเหง้าสาเหตุ"ของความสูญเสียในอดีต กลับมาทำให้เกิดปัญหาในอนาคต
สำคัญที่สุดคือ ความมีสติ ใส่ใจสุขภาพ ป้องกันตัวสม่ำเสมอ ไม่ประมาท
ระมัดระวังกิจกรรมและสถานที่เสี่ยง แออัด คลุกคลีใกล้ชิดเป็นเวลานาน ระบายอากาศไม่ดี
การไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนดจะช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID ได้
หัวใจสำคัญคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อลงไปได้มาก
อ้างอิง:
XBB.1.5 rapid risk assessment. WHO. 11 January 2023.
เครดิตภาพ: Wenseleers T and Gerstung M
ภาพจาก AFP