หมอธีระ เปิดผลวิจัยติดโควิด เสี่ยงเป็น"เบาหวาน"เพิ่มขึ้นราว 1.62 เท่า
หมอธีระ เปิดผลศึกษาจีน "โควิด-19" พบการติดเชื้อทำให้เกิดความเสี่ยง "โรคเบาหวาน" เพิ่มขึ้นราว 1.62 เท่า และจะสูงมากในช่วง 3 เดือนแรกหลังติดเชื้อ
หมอธีระ เปิดผลศึกษาจีน "โควิด-19" พบการติดเชื้อทำให้เกิดความเสี่ยง "โรคเบาหวาน" เพิ่มขึ้นราว 1.62 เท่า และจะสูงมากในช่วง 3 เดือนแรกหลังติดเชื้อ
ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat
โดยระบุว่า "21 พฤศจิกายน 2565...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 203,628 คน ตายเพิ่ม 373 คน รวมแล้วติดไป 643,034,979 คน เสียชีวิตรวม 6,625,861 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฝรั่งเศส และฮ่องกง
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.59 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 89.27
ภาพรวมทั่วโลก
ข้อมูลจาก Ourworldindata เช้านี้ ชี้ให้เห็นว่า จำนวนติดเชื้อเพิ่มขึ้นชัดเจนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศในแถบโอเชียเนีย อเมริกาใต้ และเอเชีย
และหากจำแนกตามระดับรายได้ ก็จะพบว่าจำนวนติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมากนั้น มักอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง และรายได้ปานกลางระดับสูง
ระบบรายงานของไทยในปัจจุบันนั้นไม่ได้เอื้อให้ประชาชนทราบสถานการณ์ได้ละเอียดเพียงพอ ทำให้ต้องประเมินกันจากสถานการณ์รอบตัว และรายงานสถานการณ์ของสากล
ยามนี้ หลายคนคงเห็นแล้วว่า รอบตัวมีการติดเชื้อกันเยอะขึ้นมาก อันเป็นผลมาจากปัจจัยหลักได้แก่ การเปิดเสรีการใช้ชีวิตและท่องเที่ยวระหว่างประเทศ การป้องกันตัวที่ลดลง ไวรัสที่มีสมรรถนะหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่มากขึ้นและมีความหลากหลายของสายพันธุ์ซึ่งมาจากการเดินทางระหว่างประเทศ และสุดท้ายคือประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่ระดับภูมิคุ้มกันจากวัคซีนเข็มสุดท้ายที่ได้รับนั้นตกลงไป
ควบคู่ไปกับการพบคนที่ติดเชื้อนั้นมักมีอาการป่วย เพราะไวรัสปัจจุบันนั้นได้รับการศึกษาแล้วพบว่า ทำให้ติดเชื้อแล้วมีอาการป่วยกว่า 90% คนที่ติดแบบไม่มีอาการมีสัดส่วนที่น้อย (<10%) สิ่งที่ต้องระวังเพิ่มเติมคือ ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการป่วยรุนแรงจะลดลงตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจาก 7 เดือนไปแล้ว ดังนั้นการไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงมีความจำเป็น เพื่อลดโอกาสป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต รวมถึง Long COVID ด้วย
Long COVID กับเบาหวาน
Zhang T และคณะ จาก Chinese Academy of Medical Science and Peking Union Medical College ประเทศจีน ได้เผยแพร่ผลการทบทวนข้อมูลวิชาการอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์อภิมาน ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ระดับสากล BMC Medicine เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา
จากการทบทวนงานวิจัยทั่วโลกจนถึงมิถุนายน 2565 พบว่ามีงานวิจัยทั้งหมด 9 ชิ้น ที่ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อโรคโควิด-19 กับการเกิดโรคเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และ 2 โดยมีประชากรที่ทำการศึกษาทั้งหมดกว่า 40 ล้านคนทั่วโลก
สาระสำคัญมีดังนี้
-หนึ่ง อัตราการเกิดโรคเบาหวาน ภายหลังจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 มีราว 15.53 คนต่อ 1,000 person-years (person-years หมายถึงการติดตามประชากรจำนวนหนึ่งไปนานระยะหนึ่ง คูณกันได้ 1,000 ประชากร-ปี เช่น ติดตาม 1,000 คนไปในระยะ 1 ปี)
-สอง การติดเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นราว 1.62 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 1.45–1.80) เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ
-สาม ไม่ว่าเพศชายหรือหญิง การติดเชื้อโควิด-19 ก็ทำให้เสี่ยงต่อเบาหวานพอๆ กัน
-สี่ ไม่ว่าจะช่วงอายุใด <18 ปี, ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป, และคนสูงอายุ ก็ล้วนมีความเสี่ยงต่อเบาหวานมากขึ้นทั้งสิ้น
-ห้า ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานนั้นจะสูงมากในช่วง 3 เดือนแรกหลังจากติดเชื้อ (ราว 1.95 เท่า) จากนั้นจะค่อยๆลดลง อย่างไรก็ตามแม้เลย 6 เดือนไป ก็ยังเสี่ยงกว่าการไม่ติดเชื้อราว 1.38 เท่า
ผลการวิจัยนี้ ตอกย้ำให้เราเห็นความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอระหว่างดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุดลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง คลุกคลีใกล้ชิดโดยไม่ได้ป้องกันตัว สถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดีการใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ทำงาน เรียน ท่องเที่ยว จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก สำหรับคนที่เคยติดเชื้อมาก่อน การหมั่นประเมินสุขภาพตนเอง และไปตรวจสุขภาพเป็นระยะ ก็จะเป็นประโยชน์"
ที่มา Thira Woratanarat
ภาพจาก รอยเตอร์