TNN ไขคำตอบ! “โรคโควิด-19” ธรรมชาติสร้างภูมิ VS ฉีดวัคซีนป้องกัน แบบไหนดีกว่า?

TNN

เกาะติด COVID-19

ไขคำตอบ! “โรคโควิด-19” ธรรมชาติสร้างภูมิ VS ฉีดวัคซีนป้องกัน แบบไหนดีกว่า?

ไขคำตอบ! “โรคโควิด-19” ธรรมชาติสร้างภูมิ VS ฉีดวัคซีนป้องกัน แบบไหนดีกว่า?

หมอยงไขคำตอบ “โรคโควิด-19” ธรรมชาติสร้างภูมิ กับ ฉีดวัคซีนป้องกัน แบบไหนมีประโยชน์กว่ากัน

วันนี้( 10 พ.ย.65) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า  “โรคโควิด-19  ธรรมชาติคอยฉีดวัคซีนให้ จะฉีดวัคซีน หรือ ให้ธรรมชาติฉีดวัคซีนให้ การศึกษาวิจัยมีความจำเป็นอย่างยิ่ง”

ทุกวันนี้ธรรมชาติฉีดวัคซีนให้ อาจจะมากกว่าจำนวนวัคซีนที่ฉีดต่อวัน เราจะเห็นได้จากตัวเลขที่ฉีดวัคซีนขณะนี้จะอยู่ที่ ประมาณ 4-5 พันเข็ม ต่อวัน แต่ธรรมชาติ (การติดเชื้อ) ก็เปรียบเสมือนการฉีดวัคซีน กระตุ้นภูมิต้านทานให้สูงขึ้น 

ใครไม่ฉีดวัคซีน ธรรมชาติก็จะช่วยฉีดให้ ให้พิจารณาเอาเอง  ระหว่างอาการข้างเคียง ของวัคซีน กับให้วัคซีนโดยธรรมชาติ คือการติดเชื้อ ชนิดไหนจะมีอาการข้างเคียงมากกว่า 

คนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนเลย แล้วติดเชื้อ อาการจะรุนแรงกว่าคนที่เคยฉีดวัคซีน แล้วติดเชื้อ วัคซีนย่อมมีประโยชน์กว่าแน่นอน 

การฉีดวัคซีน 2 เข็ม ถือว่ายังฉีดวัคซีนไม่ครบ จะต้องได้ 3 เข็ม ไม่ว่าเป็นวัคซีนชนิดใดก็ได้ 

คนที่ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม ถึงแม้ว่าจะมีการติดเชื้อ ก็ถือว่าธรรมชาติกระตุ้นให้ เป็นเข็มกระตุ้นเพิ่มเติม ฉีดวัคซีนร่วมกับการติดเชื้อ ภูมิต้านทานที่ได้จะเป็นภูมิต้านทานแบบลูกผสม ที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างดีมาก

ในอนาคตต่อไปนี้ จากการประเมินขณะนี้มีการติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แน่นอน คาดว่าน่าจะอยู่ที่  70% ของประชากร ดังนั้นถ้ารวมจำนวนวัคซีนที่ฉีด กับ ธรรมชาติที่ช่วยฉีดวัคซีนให้ ประชากรไทยน่าจะได้วัคซีนไปแล้ว เป็นส่วนใหญ่ อาการของโรคโดยรวมจึงเห็นภาพว่ามีอาการน้อยลง 

ภาพรวม โควิด 19 เข้าสู่โรคประจำฤดูกาล  และจะมีการติดเชื้อตามฤดูกาลนับจากนี้เป็นต้นไป เพราะกิจกรรมต่างๆจะเข้าสู่ภาวะปกติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีการฉีดวัคซีนโดยธรรมชาติ ไปเรื่อยๆ กลุ่มที่สำคัญที่สุดที่วัคซีนธรรมชาติหรือการติดเชื้อ จะมีอาการข้างเคียง หรือรุนแรงมากที่สุด คงเป็นกลุ่มเปราะบาง 608 

วัคซีนในอนาคตหรือปีหน้า เราจำเป็นจะต้องมีการศึกษาวิจัย ว่าขณะนี้ประชากรไทยอยู่ในสถานะของภูมิต้านทานเป็นอย่างไรในภาพรวม เพื่อวางแผนการให้วัคซีนในปีหน้า ในการกระตุ้น   อาจจะเป็นไปได้ที่จะมุ่งเน้นเฉพาะ 608  และในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีเหมือนอย่างไข้หวัดใหญ่

การศึกษาวิจัยในระบบภูมิต้านทานของประชากรไทย จึงมีความจำเป็นที่จะใช้เป็นข้อมูลวางแผนการกระตุ้น วัคซีนในปีหน้า ว่าเราจะลงทุนให้กับทุกคน ซึ่งใช้เงินจำนวนมากมาย  หลายหมื่นล้านบาท หรือจะให้เฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เป็นจำนวนเงินหลักพันล้านบาท


ข้อมูลจาก : Yong Poovorawan

ภาพจาก  :  Yong Poovorawan

ข่าวแนะนำ