เปิดอาการ "Long COVID" กับความผิดปกติของหัวใจ
"หมอธีระ" เปิดผลวิจัยประเทศเยอรมันถึง "Long COVID" กับความผิดปกติของหัวใจ แนะควรคอยสังเกต ประเมินสุขภาพของตนเอง
วันนี้( 6 ก.ย.65) ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า
"6 กันยายน 2565...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 296,831 คน ตายเพิ่ม 884 คน รวมแล้วติดไป 610,547,472 คน เสียชีวิตรวม 6,504,663 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.31 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 82.12
...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...Long COVID กับความผิดปกติของหัวใจ
ล่าสุด Puntmann VO และคณะ จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมัน ได้เผยแพร่ผลการวิจัยที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในวารสารการแพทย์ระดับโลก Nature Medicine เมื่อวานนี้ 5 กันยายน 2565
ศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วงเมษายน 2563 ถึงตุลาคม 2564 โดยเป็นผู้ที่ติดเชื้อแบบมีอาการน้อย และไม่มีประวัติโรคหัวใจใดๆ มาก่อน จำนวน 346 คน
กลุ่มผู้ป่วยเป็นเพศหญิง 52% ทำการตรวจหัวใจอย่างละเอียด ทั้งการตรวจเลือด และทำ MRI โดยทำการตรวจครั้งแรกราว 3 เดือนหลังจากที่ติดเชื้อ และตรวจซ้ำราว 12 เดือน
ณ 3 เดือนหลังจากติดเชื้อ มีผู้ป่วยถึง 73% ที่รายงานว่ามีอาการผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ โดยมีอาการแตกต่างกันไป เช่น หอบเหนื่อยเมื่อออกแรง (62%), ใจสั่น/หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (28%), เจ็บหน้าอก (27%), เป็นลม (3%) แม้จะติดตามไปถึง 12 เดือน ก็ยังพบว่ามีผู้ป่วยถึง 57% ที่ยังรายงานว่ามีอาการผิดปกติเช่นเดิม
ผลการตรวจที่สำคัญ พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกตินั้นจะมีอัตราการเต้นของหัวใจที่สูงกว่า และตรวจพบความผิดปกติจาก MRI ซึ่งบ่งถึงการมีภาวะอักเสบของหัวใจ มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีอาการ
นอกจากนี้ยังพบว่า ผล MRI ณ 12 เดือน ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มที่ยังคงมีอาการผิดปกตินั้นจะมีกล้ามเนื้อหัวใจบวม (diffused myocardial edema) อย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีอาการผิดปกติแล้ว
ผลการศึกษาจากเยอรมันนี้ สะท้อนให้เห็นว่า แม้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะมีอาการน้อยในช่วงที่แรกที่ติดเชื้อ และไม่มีประวัติโรคหัวใจมาก่อนก็ตาม ก็อาจเกิดปัญหา Long COVID ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของหัวใจได้ ซึ่งอาจมาจากกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลังจากการติดเชื้อ
ดังนั้น คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน จึงควรคอยสังเกต ประเมินสุขภาพของตนเอง หากมีอาการผิดปกติต่างๆ แตกต่างจากในอดีต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และทำการดูแลรักษาได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ก็ควรป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ เพราะจะยิ่งเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง และเพิ่มความเสี่ยงต่อ Long COVID
ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
Puntmann VO et al. Long-term cardiac pathology in individuals with mild initial COVID-19 illness. Nature Medicine. 5 September 2022.
ภาพจาก AFP/รอยเตอร์