"วัคซีนโควิด" ต้านโอมิครอน BA.4-BA.5 ฉีด 4 เข็ม ลดการเสียชีวิตได้ 100%
สธ. เผย “วัคซีนโควิด-19” เข็มกระตุ้น เพิ่มประสิทธิผลป้องกันอาการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตจากเชื้อโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ได้
“วัคซีนโควิด-19” เข็มกระตุ้น สธ.ประเมินจากการใช้จริงในประเทศไทย พบว่า สามารถเพิ่มประสิทธิผลป้องกันอาการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตจากเชื้อโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ได้
วันนี้ (2 ก.ย.65) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยยังมีทิศทางลดลง ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ความครอบคลุมเข็มแรก 82.3% เข็มสอง 77.2% และเข็มกระตุ้น 45.6% โดยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปฉีดเข็มกระตุ้นได้ 50.6%
ทั้งนี้ คณะทำงานศูนย์ประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลวัคซีน กรมควบคุมโรค ร่วมกับคณะทำงานวิชาการ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ติดตามประเมินประสิทธิผลวัคซีนโควิด 19 จากการใช้จริงในประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง
ผลของการใช้จริงช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2565 ที่เป็นการระบาดของ “โอมิครอน” สายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 พบว่า
การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยรุนแรง คือ อาการปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ จาก 60% ในผู้ที่ได้รับครบ 2 เข็ม เป็น 83% และ 100% ในผู้ที่ได้รับครบ 3 เข็มและ 4 เข็มตามลำดับ , ป้องกันการเสียชีวิตจาก 72% ในผู้ที่ได้รับครบ 2 เข็ม เป็น 93% และ 100% ในผู้ที่ได้รับครบ 3 เข็มและ 4 เข็มตามลำดับ
สำหรับกลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ป้องกันปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มได้ 80% ต่ำกว่ากลุ่มอายุ 18-59 ปี ที่ป้องกันได้ 89% แต่จะเพิ่มเป็น 100% เมื่อได้รับครบ 4 เข็มทั้งสองกลุ่มอายุ
โดยการฉีดวัคซีนกระตุ้น 3 เข็มขึ้นไป จะมีประสิทธิผลในการป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตในระดับสูงกว่า 80% ได้นานถึง 6 เดือน ทั้งนี้ แม้จะฉีดเข็มกระตุ้นแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อได้ แต่จะไม่ป่วยหนักหรือเสียชีวิต
ขณะนี้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แนวทางการควบคุมโรคต้องดำเนินการอย่างสมดุล ทั้งมาตรการวัคซีน ที่เร่งรัดฉีดเข็มกระตุ้นในประชากรเป้าหมายให้ครอบคลุมสูงสุด มาตรการสังคม ที่ต้องใช้ชีวิต วิถีใหม่ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง และจัดการสภาวะแวดล้อมเสี่ยง และมาตรการการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ รู้สถานะการติดเชื้อเร็ว และรักษาเร็วด้วยยาที่มีประสิทธิผล.
ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูล COVID-19
ภาพจาก TNN Online