หมอธีระ เปิดงานวิจัยฉีด "วัคซีนโควิด" ลดโอกาสแพร่เชื้อได้ 24%
หมอธีระ เผยงานวิจัยสหรัฐอเมริกา พบผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19และมีประวัติได้รับวัคซีนครบ จะช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อได้ 24%
วันนี้( 31 ส.ค.65) ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า
"31 สิงหาคม 2565...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 496,818 คน ตายเพิ่ม 1,238 คน รวมแล้วติดไป 606,941,873 คน เสียชีวิตรวม 6,491,140 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ไต้หวัน และอิตาลี
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.91 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 77.94
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 13 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...อัปเดตความรู้โควิด-19
1. "การฉีดวัคซีนให้ครบจะช่วยลดโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ด้วย"
ทีมงานวิจัยจาก UCSF ประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาในเรือนจำ 35 แห่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย พบว่าคนที่ติดเชื้อแต่มีประวัติได้รับวัคซีนครบจะช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อได้ 24% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 9%-37%) งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนนั้นนอกจากจะได้ประโยชน์ในการลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตของตนเองแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นด้วย เกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวเราเองและคนรอบข้างที่ใกล้ชิด
2. "Long COVID เป็น Aftershock ใหญ่ที่ต้องเตรียมรับมือ"
ความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบันฟันธงชี้ชัดว่า ปัญหา Long COVID นั้นเกิดขึ้นจริง และสร้างผลกระทบมหาศาล ทั้งต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิต การทำงาน และค่าใช้จ่ายกลไกการทำให้เกิดพยาธิสภาพในร่างกาย จนมีอาการผิดปกติในหลากหลายอวัยวะนั้น เกิดได้จากทั้งการที่ถูกทำลายโดยตรงจากไวรัส, กระบวนการอักเสบเรื้อรัง, การเสียสมดุลของเชื้อโรคในร่างกายจนนำไปสู่การทำงานผิดปกติของอวัยวะ ฯลฯ
โดยที่งานวิจัยในระยะหลัง มีมากขึ้นเรื่อยๆ ที่บ่งชี้ไปถึงการคงค้างของเชื้อหรือชิ้นส่วนของเชื้อในอวัยวะต่างๆ และการเกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรัง เพราะตรวจพบสารเคมีในเลือดที่สัมพันธ์กับกระบวนการอักเสบ
ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกต่างออกมาเรียกร้องให้แต่ละประเทศเตรียมรับมือกับ Long COVID โดยจะเปรียบเหมือนอาฟเตอร์ช็อคที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เพราะโรคเรื้อรังต่างๆ จะมีโอกาสเกิดขึ้นในคนจำนวนมาก
แม้โอกาสเกิด Long COVID 5-30% จะดูเป็นตัวเลขไม่มาก หรือภาวะผิดปกติรุนแรงเรื้อรังอาจคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อย แต่เมื่อมีจำนวนคนติดเชื้อทั่วโลกหลายร้อยล้านคน จำนวนผู้ป่วยจริงที่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ก็มีโอกาสที่จะสูงมากเกินกว่าระบบสุขภาพของแต่ละประเทศจะให้การดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเกิดผลกระทบต่อทั้งระบบการทำงานที่จะขาดแคลนคน ผลิตภาพโดยรวมลดลง รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ
ล่าสุด ข้อมูลจาก Nomi Trends in Spend Tracker ได้ออกรายงานวิเคราะห์การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจำนวนกว่า 20 ล้านครั้งในสหรัฐอเมริกา พบว่า ในครึ่งปีแรกของ 2022 นี้ Long COVID ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน สูงกว่าโรคเบาหวานถึง 26%
ประเทศไทยเราก็เช่นกัน มีคนที่ติดเชื้อจำนวนมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา การวางแผนเตรียมตัวรับมือล่วงหน้าเป็นเรื่องจำเป็น เหนืออื่นใด การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญ ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงไปได้มาก
ที่มา Thira Woratanarat
ภาพจาก AFP / รอยเตอร์